มะเร็งเต้านม

 

หัวนมบุ๋มลงไปและผิวหนังหนาเป็นมันคล้ายผิวเปลือกส้ม

มะเร็งเต้านมชนิดที่มีการอักเสบลักษณะเต้านมข้างซ้ายแดงและร้อน

   

จุดประสงค์การตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมเพื่อการวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้และลดอัตราการเสียชีวิต  วิธีการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมที่แพร่หลายมี 3 วิธีได้แก่ 
         
      1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (breast self examination)
      2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ (clinical breast examination) 
      3. การตรวจเอกซเรย์เต้านม (mammography)

 

แต่วิธีการตรวจด้วย mammography เป็นวิธีที่มีการศึกษามากที่สุด  ในระยะ 30 ปีที่ผ่านมามีคำถามมากมายในการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมคือ  จะเริ่มตรวจในผู้หญิงอายุเท่าไรและต้องตรวจบ่อยแค่ไหน  คำตอบที่ชัดเจนแล้วในการตรวจคัดกรองมีประโยชน์ในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปีจนถึงอายุ 70 ปี  แต่ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปีหรืออายุเกินกว่า 70 ปียังไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน (3) 

 
มีการศึกษาเปรียบเทียบ 8 การศึกษาตลอด 30 ปีที่ผ่านมาโดยการใช้ mammography ในผู้หญิงมากกว่า 500,000 คน (ในจำนวนนี้ 180,000 คนเป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 40 - 49 ปี) รายละเอียดดังตารางที่ 1 (4)  ผลการศึกษาพบว่าอัตราการตายลดลงในผู้ป่วยทั้งหมด  โดยอัตราเสี่ยงน้อยกว่า 1.0 (ดังรูปที่ 1)  เมื่อพิจารณาเฉพาะอายุระหว่าง 40 - 49 ปีพบว่ามีความแตกต่างของอัตราเสี่ยงมีทั้งมากกว่าและน้อยกว่า 1.0 (ดังรูปที่ 2)  และอัตราการตายในผู้หญิงอายุตั้งแต่ 50 ปีพบว่าอัตราเสี่ยงน้อยกว่า 1.0 และมีค่าอยู่ระหว่าง 0.68 - 0.97 (ดังรูปที่ 3)

 

ตารางที่ 1  แสดงการศึกษาที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ 8 การศึกษาในการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านม (4) 

 

รูปที่1 แสดงอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิตในผู้ป่วยทั้งหมด

รูปที่2 แสดงอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิตในผู้ป่วยอายุ 40 ถึง 49 ปี

รูปที่3 แสดงอัตราเสี่ยงของการเสียชีวิตในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป

 

แม้ว่าการศึกษาในผู้หญิงที่มีอายุเกินกว่า 70 ปีมีจำนวนน้อยแต่ก็มีผู้แนะนำให้ทำการตรวจ mammography อย่างสม่ำเสมอในผู้ที่มีอายุเกินกว่า 70 ปีเช่นเดียวกัน (5) การศึกษาในภายหลังโดย Nijmegen (6) ยืนยันว่าการตรวจ mammography มีประโยชน์แน่นอนในผู้หญิงที่มีอายุเกินกว่า 70 ปี 

การศึกษาที่ไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบโดย US Breast Cancer Detection Demonstration Project (BCDDP) (7,8) ในผู้หญิง 280,000 ราย อายุตั้งแต่ 35 ปี  โดยการตรวจ mammography และการตรวจเต้านมด้วยแพทย์ทุกปีใน 28 สถาบันในสหรัฐอเมริกา  เริ่มในปี ค.ศ. 1970 ด้วยการสนับสนุนของสถาบันมะเร็งแห่งชาติและสมาคมโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกา  พบว่าอัตราการตายจากโรคมะเร็งเต้านมเป็นร้อยละ 20 ซึ่งน้อยกว่าข้อมูลที่คาดไว้ (9)  มีข้อสังเกตุว่าผู้ที่เข้ารับการตรวจส่วนใหญ่จะมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม  และพบว่ามีประโยชน์ในผู้ที่มีอายุน้อยแต่ก็ยังน้อยกว่าผู้ที่มีอายุมาก 
 

มี Meta-analysis 5 รายงานที่รวบรวมการศึกษาการตรวจคัดกรองในผู้หญิงที่มีอายุ 40 - 49 ปี (10)  และ The International Workshop on Breast Cancer Screening (4) สรุปว่าผู้หญิงที่มีอายุ 40 - 49 ปีจากการศึกษาที่มีกลุ่มเปรียบเทียบพบว่าการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่มีประโยชน์   Kerlikowske และคณะ (11) ได้ยืนยันข้อสรุปนี้และแนะนำว่าการตรวจคัดกรองมีประโยชน์ในผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป 

 โดยสรุปแนวทางการตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านมด้วย mammography ควรทำปีละครั้งหรือ 2 ปีต่อครั้งในผู้หญิงทุกคนที่มีอายุ 50 - 74 ปี แต่ในผู้หญิงที่มีอายุ 40 - 49 ปีทำเฉพาะในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง (ถ้าเป็นไปได้อาจทำตั้งแต่อายุ 30 - 39 ปี)  การตรวจเต้านมโดยแพทย์สามารถลดอัตราการตายลงได้ร้อยละ 5 - 20 จึงมีการสนับสนุนให้ตรวจด้วยวิธีนี้ปีละ 1 ครั้ง (4,10)