วิธีการเลือกรูปแบบการวิจัยที่เหมาะสม

ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นบทนี้ว่าการเลือกรูปแบบของการวิจัยที่เหมาะสมนั้น จะต้องสอดคล้องกับคำถามของการวิจัย ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้

1. คำถามของการวิจัยอยู่ในลักษณะของการประเมินขนาดของปัญหา รูปแบบการวิจัยที่เหมาะสมก็คือ การวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive study)

2. คำถามของการวิจัยอยู่ในลักษณะของการค้นหาต้นเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรค รูปแบบการวิจัยในขั้นตอนนี้ อาจใช้ได้ หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับข้อความรู้ที่มีอยู่ ถ้ายังไม่มีข้อมูลพื้นฐานอยู่เลยก็ต้องเริ่มต้นการศึกษาด้วยการวิจัยเชิงพรรณนา เช่น แต่เดิมนั้นเราไม่ทราบว่าบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด ข้อมูลพื้นฐานที่รวบรวมได้ครั้งแรก ได้จากผู้ป่วยด้วยโรค มะเร็งปอด ซึ่งจากประวัติพบว่า มีอัตราการสูบบุหรี่สูงมากในผู้ป่วยเหล่านี้

จากข้อมูลดังกล่าวก็นำมาสู่การตั้งสมมติฐานว่าอาจมีความสัมพันธ์กันระหว่างการสูบบุหรี่และการเป็นมะเร็งที่ปอด การพิสูจน์สมมติฐานดังกล่าว จำเป็นต้องใช้การวิจัยเชิงวิเคราะห์หรือการวิจัยโดยการทดลองต่อไป ซึ่งลำดับขั้นตอนการศึกษา และรูปแบบการวิจัยแสดงในภาพที่ 2

ภาพที่ 2 : ขั้นตอนในการศึกษาเพื่อหาต้นเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงของโรค

เป็นการยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การพิสูจน์สมมติฐานเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อหาต้นเหตุของปัญหานั้น รูปแบบการวิจัยที่เชื่อถือได้มากที่สุด ก็คือการวิจัยโดยการทดลอง เพราะสามารถหลีกเลี่ยงอคติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้มากที่สุด แต่ก็มักจะประสบปัญหาทางด้านจริยธรรม โดยเฉพาะการกำหนดปัจจัยเสี่ยงให้กับกลุ่มประชากรที่ศึกษา

3. คำถามของการวิจัยเพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาหรือการประเมินผลบริการต่าง ๆ รูปแบบการวิจัยที่เหมาะสม คือการวิจัยโดยการทดลอง (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 : การเลือกรูปแบบการวิจัยตามคำถามของการวิจัย
คำถามหรือวัตถุประสงค์ของการวิจัย รูปแบบการวิจัย
1. ศึกษาขนาดของปัญหา เช่น การกระจายของโรค หรือการกระจายขององค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการเกิดโรค   การวิจัยโดยการสังเกตเชิงพรรณนา
2. ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค   การวิจัยโดยการสังเกตเชิงพรรณนา
3. ศึกษาคุณสมบัติของเครื่องมือในการวินิจฉัยโรค   การวิจัยโดยการสังเกตเชิงพรรณนา
4. ศึกษาต้นเหตุของโรค   การวิจัยโดยการสังเกตเชิงวิเคราะห์
5. ประเมินผลการให้บริการ   การวิจัยโดยการทดลอง

แม้ว่าการเลือกรูปแบบการวิจัยจะขึ้นอยู่กับคำถามการวิจัยเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติอาจจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมไปด้วย เช่น

ก. ทรัพยากร การออกแบบการวิจัยจำเป็นต้องพิจารณาถึงทรัพยากร ทั้งกำลังคน งบประมาณ และเวลาที่มีอยู่ เช่น ถ้าต้องการทดสอบสมมติฐานบางอย่างในเวลา และงบประมาณอันจำกัด อาจจำเป็นต้องเลือกรูปแบบการวิจัยเชิง วิเคราะห์ย้อนหลัง แต่ถ้ามีงบประมาณมากพอ และต้องการผลที่เชื่อถือได้มากขึ้น ก็อาจเลือกใช้รูปแบบการวิจัยเชิงวิเคราะห์ ชนิดไปข้างหน้า

ข. องค์ประกอบที่ต้องการศึกษา ถ้าหากว่าโรคที่ต้องการศึกษานั้นพบยากควรเลือกใช้รูปแบบการวิจัยเชิงวิเคราะห์ย้อนหลัง เพราะจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก แต่ถ้าองค์ประกอบที่สงสัยพบได้ง่าย และจำนวนโรคที่เกิดข้น มีความถี่มากพอสมควร การใช้รูปแบบการวิจัยเชิงวิเคราะห์ชนิดไปข้างหน้าก็อาจจะเกิดผลดีกว่ารูปแบบการวิจัยอื่น ๆ

ค. ประชากรที่ศึกษา ขนาดตัวอย่างพอหรือไม่สำหรับรูปแบบการศึกษาชนิดนั้น ๆ เช่น การศึกษาเชิงวิเคราะห์ไปข้างหน้า ต้องใช้ตัวอย่างค่อนข้างมาก เพราะต้องใช้เวลายาวนานในการติดตามศึกษา หากกลุ่มที่ศึกษาจำนวนน้อย หรือถ้าเลือกทำการ ศึกษากับกลุ่มประชากรที่มีการเคลื่อนย้ายมาก ก็จะมีผลกระทบต่อการศึกษาได้ (ไพบูลย์ โลห์สุนทร 2529)

การเลือกรูปแบบการวิจัย HOME Next Lesson