ในการทำวิจัยเพื่อประเมินผลบริการ ถ้าเลือกศึกษาเฉพาะประชากร หรือกลุ่มตัวอย่างเพียงกลุ่มเดียว ผู้วิจัยจะไม่สามารถสรุปได้ ด้วยความมั่นใจว่า ผลนั้นเป็นผลเนื่องมาจากบริการนั้นๆ เนื่องจากการไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ หรือกลุ่มควบคุม เพราะโดยแท้จริง ตามธรรมชาติ ภายใต้สภาพแวดล้อมต่างๆ ยังมีปัจจัยอื่นๆ มากมาย ที่อาจมีอิทธิพล ต่อตัวแปรตาม และตัวแปรอิสระ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 1

ตัวอย่าง เช่น การประเมินประสิทธิผล (Effectiveness) ของยาชนิดหนึ่ง ในการป้องกันไข้มาเลเรีย ในกลุ่มคนงาน ที่อพยพมาตัดอ้อย ที่อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี (ภิรมย์ กมลรัตนกุล 2529) ถ้าผลปรากฏว่า คนงานที่รับประทานยาชนิดนี้ 1 เม็ด ทุกๆ สัปดาห์ จะมีอัตราการพบเชื้อมาเลเรีย เพียง 1% โดยไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ จากผลดังกล่าว เราจะสรุปว่า ยาชนิดนี้ มีประสิทธิผลดีมาก ในการป้องกันไข้มาลาเรีย ในกลุ่มคนงานเหล่านี้ คงยังไม่ได้ เพราะการที่คนงานไม่เป็นไข้มาลาเรีย อาจมีต้นเหตุมาจาก ปัจจัยหลายประการ เช่น ในชุมชนนั้น ไม่มีการแพร่ระบาดของโรค ในช่วงเวลาที่ศึกษา คนงานใช้วิธีป้องกัน ด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การนอนในมุ้ง ฯลฯ เป็นต้น

ดังนั้น ในแง่ความถูกต้อง และเชื่อถือได้ ของการทำวิจัย เกี่ยวกับการประเมินผล การให้บริการ จึงสมควรมีประชากร หรือกลุ่มตัวอย่าง อีกกลุ่มหนึ่ง ที่เรียกว่ากลุ่มควบคุม หรือกลุ่มเปรียบเทียบ ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้น ผู้วิจัยได้กำหนดให้ กลุ่มคนงานอีกกลุ่มหนึ่ง รับประทานยาป้องกันไข้มาเลเรีย ที่นิยมใช้กันอยู่ขณะนั้นคือ ยาแฟนซิดาร์ (Fansidar) โดยประชากรในกลุ่มทดลอง (Experimental Group) และประชากรในกลุ่มเปรียบเทียบ ต้องมีลักษณะต่างๆ เช่น อายุ ภูมิคุ้มกันต่อไข้มาเลเรีย ความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมาเลเรีย ซึ่งอาจมีผลกับตัวแปรตาม (อัตราการพบเชื้อไข้มาเลเรีย) คล้ายกัน (Comparable) มากที่สุด ก่อนได้รับตัวแปรอิสระ (ยาทั้งสองชนิด) จากนั้นก็ติดตามคนงานทั้งสองกลุ่ม เพื่อดูอัตราการติดเชื้อไข้มาเลเรีย เปรียบเทียบกัน ระหว่างกลุ่มคนงานทั้งสองนี้ เป็นต้น

 

รูปแบบการวิจัย HOME การจำแนกรูปแบบการวิจัย