การจำแนกรูปแบบต่างๆ ของการวิจัย อาจทำได้หลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นกับว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการจำแนก (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 : การจำแนกรูปแบบของการวิจัยโดยใช้เกณฑ์ต่าง ๆ

  ก. จำแนกตามเป้าหมายหรือผล
 
  1. การวิจัยพื้นฐาน (Basic Research)
2. การวิจัยประยุกต์ (Applied Research)
  ข. จำแนกตามลักษณะสิ่งที่ทำการศึกษา
 
  1. การวิจัยวารสารหรือเอกสาร (Documentary Research)
2. การวิจัยทางห้องปฏิบัติการ (Laboratory Research)
3. การวิจัยในสัตว์ทดลอง (Animal Research)
4. การวิจัยทางคลินิก (Clinical Research)
5. การวิจัยชุมชน( Community Research)
6. การวิจัยปฏิบัติการ (Operational Research)
7. การวิจัยบริการสาธารณสุข (Health Service Research)
  ค. จำแนกตามลำดับเวลา
 
  1. การวิจัยย้อนหลัง (Retrospective Research)
2. การวิจัยไปข้างหน้า (Prospective Research)
  ง. จำแนกตามวิธีดำเนินการวิจัย
 
  1. การวิจัยโดยการสังเกต (Observational Research)
 
  - การวิจัยโดยการสังเกตเชิงพรรณนา (Descriptive Research)
- การวิจัยโดยการสังเกตเชิงวิเคราะห์ (Analytical Research)
  2. การวิจัยโดยการทดลอง (Experimental Research)

สำหรับการจำแนกรู ปแบบของการวิจัยที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ เป็นการจำแนก ตามวิธีการดำเนินการวิจัย การจำแนกรูปแบบการวิจัยโดยวิธีนี้ แบ่งการวิจัยได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ การวิจัยโดยการสังเกต (Observational Research) และการวิจัยโดยการทดลอง (Experimental Research) การจำแนกรูปแบบการวิจัย เป็นสองแบบนี้ ขึ้นอยู่กับว่า ตัวแปรอิสระ ซึ่งอาจได้แก่ ปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors) หรือต้นเหตุ หรือสิ่งที่เราต้องการ ประเมิน หรือทดสอบ (เช่น ยา หรือวิธีการรักษา โครงการต่างๆ ) ซึ่งเรียกว่า "สิ่งแทรกแซง" (Intervention) นั้น ผู้วิจัยเป็นผู้กำหนด ให้กับตัวอย่าง ที่นำมาศึกษา โดยมีการควบคุม กระบวนการบางอย่าง หรือสิ่งแทรกแซงนั้น มีอยู่ก่อนแล้ว ตามธรรมชาติ (Natural exposure) ในชีวิตประจำวัน ของตัวอย่างที่นำมาศึกษานั้น โดยที่ผู้วิจัย ไม่ได้เข้าไปควบคุม หรือแทรกแซงแต่อย่างใด การวิจัยประเภทนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า เป็นการทดลองตามธรรมชาติ (Natural Experiment)

การวิจัยใดก็ตาม ที่ผู้วิจัยไม่มีการกำหนดปัจจัยเสี่ยง หรือสิ่งแทรกแซง ให้กับตัวอย่างที่นำมาศึกษา แต่ตัวอย่างนั้น ได้รับ หรือสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงนั้นๆ อยู่แล้ว ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเขา โดยผู้วิจัย เป็นแต่เพียงเฝ้าติดตาม สังเกต ดูผลที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากการมี หรือสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้น การวิจัยที่เป็นแต่เพียงการเฝ้าสังเกตนี้ จึงได้ชื่อว่า การวิจัยโดยการสังเกต (Observational Research) (ภาพที่ 3)

การวิจัยใดก็ตาม ที่ผู้วิจัยมีการกำหนดปัจจัยเสี่ยง หรือกำหนดสิ่งแทรกซ้อน ที่ต้องการประเมินผล ให้กับตัวอย่าง ที่นำมาศึกษา แล้วผู้วิจัย เฝ้าติดตามดูผลที่จะเกิดขึ้น จากการได้รับปัจจัยเสี่ยง หรือสิ่งแทรกแซง ดังกล่าวนั้น ไปข้างหน้า (Prospective) ในอนาคต การวิจัยชนิดนี้ เรียกว่า การวิจัยโดยการทดลอง (Experimental Research) (ภาพที่ 3)

ภาพที่ 3 : จำแนกรูปแบบของการวิจัยตามวิจัยตามวิธีดำเนินการวิจัย

ยกตัวอย่างเช่น ผู้วิจัยต้องการประเมินประสิทธิผลของยาแฟนซิเมฟ ในการป้องกันไข้มาเลเรีย ในกลุ่มคนงาน ที่อพยพมาทำงาน ในไร่อ้อย ที่อำเภอบ่อทอง โดยผู้วิจัย เริ่มการศึกษา จากกลุ่มคนงาน ที่ไม่มีประวัติรับประทาน ยาป้องกันไข้มาเลเรียมาก่อน จากนั้นจึงทำการแบ่งกลุ่ม โดยวิธีสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก กำหนดให้ ได้รับยาแฟนซิเมฟ ในการป้องกันไข้มาเลเรีย โดยมีการกำหนดแน่นอน ให้รับประทาน ยาแฟนซิเมฟ 1 เม็ดทุกสัปดาห์ เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ที่อพยพมาทำงานในที่นั้น ดังนั้น กลุ่มนี้จึงเรียกว่า กลุ่มทดลอง (Experimental Group) เพราะเป็นกลุ่ม ที่กำหนดให้ได้รับยา ที่เราต้องการศึกษา หรือทดลองหาประสิทธิผล ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง ถูกกำหนดให้ได้รับ ยาแฟนซิดาร์ ซึ่งเป็นยาป้องกันไข้มาเลเรีย ที่นิยมใช้กันอยู่ในขณะนั้น โดยได้รับยา 1 เม็ดทุกๆ สัปดาห์ เช่นเดียวกัน ดังนั้นกลุ่มหลังนี้ จึงเรียกว่า กลุ่มควบคุม (Control Group) หรือ กลุ่มเปรียบเทียบ (Comparison Group) การวิจัยที่มีการกำหนดสิ่งแทรกแซง ให้กับตัวอย่าง ที่นำมาศึกษาเช่นนี้ จึงเรียกว่า การวิจัยโดยการทดลอง

ในทำนองตรงกันข้าม ในกรณีดังกล่าว ถ้าผู้วิจัย เริ่มต้นศึกษาจาก กลุ่มคนงาน ที่บังเอิญรับประทานยา ป้องกัน ไข้มาเลเรียอยู่ก่อนแล้ว ในชีวิตประจำวัน ของพวกเขาเหล่านั้น ผู้วิจัย เป็นแต่เพียงติดตาม สังเกตดูผล จากการรับประทานยา ที่ผู้วิจัยสนใจจะศึกษานั้น การวิจัยแบบนี้เรียกว่า การวิจัยโดยการสังเกต เพราะไม่มีการกำหนด สิ่งแทรกซ้อน ให้กับตัวอย่าง ที่นำมาศึกษา แต่คนงานเหล่านั้น รับประทานยาที่ศึกษานั้นอยู่แล้ว

ดังนั้น โดยสรุปแล้ว การวิจัยถ้าจำแนกตามวิธีดำเนินการวิจัย จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ขึ้นอยู่ว่า ผู้วิจัยมีการกำหนด หรือใส่ปัจจัยเสี่ยง หรือสิ่งแทรกแซง ให้กับตัวอย่างที่นำมาศึกษาหรือไม่

 

รูปแบบการวิจัย HOME แนวทางในการออกแบบการวิจัย