THE EPITHELIAL TISSUE (เนื้อผิว)

    เนื้อเยื่อ (Tissue) หมายถึง พวกเซลล์ที่จัดรวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อทำหน้าที่หนึ่งอย่าง หรือมากกว่าหนึ่งอย่างขึ้นไป
    เนื้อเยื่อพื้นฐานในร่างกายมี 4 ชนิด
        1. เนื้อผิว (Epithelial tissue or epithelium)

            พบปกคลุมเป็นผิวหนัง หรือดาดช่องและท่อชนิดต่างๆ ภายในร่างกาย ตลอดทั้ง พวกเซลล์ซึ่งรวมกลุ่มสร้างเป็นต่อมชนิดต่างๆ อยู่ใต้เนื้อผิวชนิดปกคลุม
        2. เนื้อประสานหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue)

            พบอยู่ใต้ต่อหรือล้อมรอบเนื้อผิวและเนื้อเยื่อพื้นฐานที่เหลืออีก 2 ชนิด เพื่อทำหน้าที่ ค้ำจุนหรือเกี่ยวพันระหว่างเนื้อเยื่อชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดกัน
        3. เนื้อกล้าม (Muscular tissue)

            ประกอบด้วยพวกเซลล์ที่หดตัวได้ (contractile cells) เพื่อทำหน้าที่ในการเคลื่อนที่แต่ละส่วนของร่างกาย หรือร่างกายทั้งตัว
        4. เนื้อประสาท (Nervous tissue)

            ประกอบด้วยพวกเซลล์ที่รับผ่าน (transmit) และบูรณา (integrate) ข้อความจาก ภายในและภายนอกตัวเซลล์ เพื่อรวบรวมข้อมูล และใช้ควบคุมการทำงานของร่างกายทั้งหมด หรือแต่ละส่วน
    ในบทนี้จะกล่าวถึง "เนื้อผิว" ซึ่งประกอบด้วยพวกเซลล์ชนิดเดียวกัน อยู่ชิดติดกัน มีสิ่งที่อยู่ ระหว่างเซลล์น้อยมาก การเรียงตัวของพวกเซลล์ที่อยู่ติดกันนั้น ถูกยึดโดยมีการพัฒนา เปลี่ยนแปลงเยื่อหุ้มตัวเซลล์ (specialization of cell membrane) บางตำรากล่าวว่า เนื้อผิวเป็นเนื้อเยื่อที่ไม่มีเลือดมาเลี้ยง (avascular tissue) แต่ได้รับสารอาหารซึมผ่านมาทาง เนื้อประสานที่รองรับ (basement membrane)
พวกเซลล์ที่เป็นองค์ประกอบในเนื้อผิวต้องมีลักษณะสำคัญ 3 อย่างคือ

    1. พวกเซลล์นั้นชิดกันและมีสิ่งที่เชื่อมติดชนิดพิเศษ (special junctions)
    2. แต่ละด้านของเยื่อผิวเปลือกเซลล์มีหน้าที่และลักษณะแตกต่างกัน โดยเฉพาะพวกเซลล์ที่มีรูปทรง กระบอกหรือลูกเต๋า เช่น มี free หรือ apical surface (ผิวยอด), lateral surface (ด้านข้าง) และ basal surface (ด้านฐาน) ความแตกต่างนี้เกิดจากการพบ specific membrane proteins ที่มีความแตกต่างในแต่ละด้านของเยื่อหุ้มเซลล์
    3. เยื่อผิวเปลือกด้านฐานเซลล์ติดกับ basement membrane ซึ่งเป็นชั้นที่ไม่มีพวกเซลล์ และองค์ประกอบ มีแต่ protein-polysaccharides และ reticular fibers และสามารถบ่งชี้ในระดับ LM โดยวิธีพิเศษทางชีวเคมี

หน้าที่ของเนื้อผิว
    1. เป็น selective barrier ระหว่างสิ่งที่อยู่ภายนอกกับเนื้อประสานที่อยู่ใต้ต่อเนื้อผิว หรือเป็น ตัวขวางกั้นไม่ให้ผ่าน (imprevious barrier) ได้เลย เช่น ผิวหนัง เนื้อผิวที่ดาดกระเพาะปัสสาวะ
    2. เกี่ยวกับสร้างและหลั่งสารออกมา เช่น ต่อมในกระเพาะอาหาร ต่อมน้ำลาย
    3. เกี่ยวกับการหลั่งและทำหน้าที่ดูดซึมพวกสารอาหาร เช่น ต่อมในลำไส้ และเนื้อผิว ที่ดาดลำไส้
    4. เกี่ยวกับระบบขนส่ง โดยการใช้ cilia พัดโบกสารขนาดเล็ก หรือน้ำเมือก เช่น ในเนื้อผิว ที่ดาดหลอดลม
    5. รับ sensory stimuli เช่น taste buds ของลิ้น หรือที่จอตา (retina)
ประเภทของเนื้อผิวแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

    1. ชนิดปกคลุม (Covering type) เป็นแผ่นดาดหรือปกคลุมด้านนอกของโครงสร้าง เช่น ผิวหนังที่ปกคลุมร่างกาย ดาดอวัยวะที่เป็นท่อชนิดต่างๆ ได้แก่ หลอดเลือดขนาดต่างๆ หลอดอาหาร หลอดลม ท่อทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
    2. ชนิดรวมกลุ่มเป็นเนื้อต่อม (Glandular type) อยู่ในเนื้อเยื่อ เนื้อต่อมทำหน้าที่ สร้างน้ำคัดหลั่ง ซึ่งอาจส่งผ่านออกทางท่อ หรือผ่านตรงเข้าสู่กระแสเลือด