เป้าหมายของการวิจัย

การวิจัย มีเป้าหมายเพื่อ ค้นหาคำตอบ ที่เป็นความจริง (Truth) ต้องการผลิตความรู้ใหม่ ที่ถูกต้อง และเชื่อถือได้ โดยหวังว่า ความรู้ใหม่นั้น จะสะท้อนถึง ความจริงในธรรมชาติ สามารถทำนายการเปลี่ยนแปลง ของธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นในตัวของมันเอง และในบางครั้ง ในบางขั้นตอน ของการวิจัย ก็มีการเปลี่ยนแปลง หรือควบคุม ธรรมชาติบางอย่าง เช่น มีการแบ่งกลุ่มตัวอย่าง ที่นำมาศึกษา แล้วกำหนดให้ ตัวอย่างแต่ละกลุ่ม ได้รับปัจจัยเสี่ยง ที่ต่างกัน การกระทำดังกล่าว จะช่วยให้เข้าใจธรรมชาติ ได้ดียิ่งขึ้น

เป้าหมายของการวิจัย ต้องการค้นหาความจริง แต่ผลที่ได้จากการทำวิจัย มักไม่ได้ความจริง แต่สิ่งที่ได้ เป็น "ข้อเท็จผสมจริง" เพราะมีทั้งความจริง และความเท็จ (ความคลาดเคลื่อน) ปน ๆ กันอยู่ ในผลของการวิจัยนั้น (ภาพที่ 1) โดยเราไม่มีทาง ทราบได้ว่า โดยความจริง ของธรรมชาติแล้ว ผลเป็นอย่างไร เราสรุปผล จากการวิจัยว่า โรคนี้มีต้นเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยง อย่างนี้ หรือโรคนี้ ได้ผลดี ถ้ารักษาด้วย ยาชนิดนี้ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว จะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราไม่สามารถ จะทราบแน่ชัดได้

ดังนั้น การพิจารณา ผลการวิจัย ว่าถูกต้อง และน่าเชื่อถือ หรือไม่ จึงจำเป็นต้อง พิจารณาจาก "วิธีการ" หรือ "กระบวนการ" ของการศึกษา ค้นคว้า หาข้อความรู้ ของงานวิจัยนั้น ๆ ว่าถูกต้อง และน่าเชื่อถือ ได้มากน้อย เพียงใด ถ้าวิธีการดังกล่าว ถูกต้อง และเชื่อถือได้ เราก็หวังว่า ผลจากการวิจัยนั้น น่าจะใกล้เคียง กับความจริง แต่ถ้าวิธีการ ในการค้นหาความรู้นั้น ไม่ถูกต้อง และไม่น่าเชื่อถือ ผลที่ได้จากการวิจัยนั้น ก็ไม่น่าจะถูกต้อง (จรัส สุวรรณเวลา 2529)

ดังนั้น ในการทำวิจัย นักวิจัยจำเป็น ต้องหามาตรการ ในการป้องกัน หรือลดค่าความเท็จ อันอาจจะเกิดขึ้น จากการทำวิจัยนั้น ๆ ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อที่ผลที่ได้ จากการทำวิจัย จะใกล้เคียง กับความเป็นจริง มากที่สุด ซึ่งนั่นก็คือ เป้าหมายที่สำคัญ ของการทำวิจัยนั่นเอง (ภิรมย์ กมลรัตนกุล 2531)

ความเท็จ หรือความคลาดเคลื่อน (Error) ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำวิจัย อาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภท (ภาพที่ 1) ได้แก่

ประเภทที่ 1 ความคลาดเคลื่อนอย่างมีระบบ (Systematic Error) หรืออคติ (Bias)
เป็นความคลาดเคลื่อน ที่เกิดขึ้น ในลักษณะที่ เอนเอียงไปด้านใด ด้านหนึ่ง เช่น การวิจัย ที่มีการวัดผล โดยการชั่งน้ำหนัก เครื่องชั่ง ที่มีสปริง รับน้ำหนักไม่ได้มาตรฐาน ถ้าสปริงแข็งเกินไป ทำให้การ ชั่งน้ำหนัก ให้ค่าน้ำหนัก ซึ่งน้อยกว่า ความเป็นจริง เสมอทุก ๆ ครั้ง แต่ถ้าสปริงอ่อนเกินไป การคลาดเคลื่อน จะเกิดในลักษณะที่ ให้ค่ามากกว่า ความเป็นจริงตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความคลาดเคลื่อน ที่เกิดขึ้นนี้ จะเกิดอย่างเป็นระบบ ในลักษณะเหมือนกัน ทุกครั้งที่วัดค่า (คือผิดพลาด ในทางมากกว่า หรือน้อยกว่า ค่าความเป็นจริง) ความคลาดเคลื่อน ประเภทนี้ เป็นความผิดพลาด ที่อันตราย เพราะจะให้ผล ที่ผิดไปจากความจริง อย่างแน่นอน

ประเภทที่ 2 ความคลาดเคลื่อนแบบสุ่ม (Random Error) หรือสิ่งรบกวน (Noise)
เป็นความคลาดเคลื่อน แบบไม่คงที่ (Nonsystematic Error) ยกตัวอย่าง เช่น การชั่งน้ำหนัก ถ้ามีความคลาดเคลื่อน แบบสุ่ม ก็หมายความว่า เครื่องชั่งน้ำหนัก ได้มาตรฐาน แต่ในการชั่งน้ำหนัก ครั้งหนึ่ง ๆ อาจมีน้ำหนักสูง หรือต่ำ กว่าความเป็นจริง บ้างเล็กน้อย ที่สังเกตได้ไม่ชัดเจน โดยผลนี้ จะสลับคละกันไป ซึ่งจะเห็นว่า ความคลาดเคลื่อนแบบนี้ อาจไม่ก่อให้เกิด ความผิดพลาดมากนัก เพราะความคลาดเคลื่อน ด้านสูง และต่ำ อาจจะหักล้างกันไปเอง (ดร.ธวัชชัย วรพงศธร 2530)

เมื่อเป้าหมายของการวิจัย ต้องการค้นหาความจริง แต่ผลที่ได้ จากการวิจัย กลับได้ข้อเท็จผสมจริง ดังนั้น การจะบรรลุเป้าหมาย ของการวิจัยได้ จำเป็นต้องป้องกัน หรือลด ความคลาดเคลื่อน ที่อาจจะเกิดขึ้น ในทุก ๆ ขั้นตอน ของการทำวิจัยนั้น ให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อให้ผล ของการวิจัย ใกล้เคียงกับ ความเป็นจริง มากที่สุด

การป้องกันหรือลดความคลาดเคลื่อนจากการทำวิจัย ต้องใช้มาตราการทั้ง 3 อย่าง ร่วมกัน คือ

1. รูปแบบการวิจัย (Research Design) ที่เหมาะสม
2. วิธีการวิจัย (Research Methodology) ที่เหมาะสม
3. เทคนิคทางสถิติที่เหมาะสม

รูปแบบการวิจัย และวิธีการวิจัยที่เหมาะสม จะช่วยป้องกัน และหลีกเลี่ยงความเท็จ อันเนื่องมาจาก ความคลาดเคลื่อน อย่างเป็นระบบ หรืออคติได้ ส่วนสถิติที่เหมาะสม จะช่วยป้องกัน ความคลาดเคลื่อนแบบสุ่มได้ (ภาพที่ 2)

ดังนั้น การวางแผนทำวิจัยที่ดี จะช่วยลดความคลาดเคลื่อนต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งผลให้ การวิจัยได้ผลใกล้เคียง กับความเป็นจริงมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม นอกจากความถูกต้อง และเชื่อถือได้แล้ว ยังต้องคำนึงถึง ความเป็นไปได้ด้วย เพราะในบางสภาวะ หรือบางสถานการณ์ ที่มีข้อจำกัด หลายประการร่วมกันอยู่ การคำนึงเฉพาะ ความถูกต้องอย่างเดียว อาจไม่สามารถ ทำการวิจัยได้ กรณีดังกล่าว นักวิจัย อาจจำเป็นต้อง มีการปรับแผนบางอย่าง เพื่อให้สามารถ ปฏิบัติได้ แต่ควรจัด ให้มีขั้นตอน ของการวิจารณ์ผล ซึ่งมีการระบุจุดอ่อน ดังกล่าวเอาไว้ด้วย เพื่อผู้ที่จะนำผลการวิจัยนั้นไปใช้ จะสามารถ ใช้วิจารณญาณ ได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม อย่าให้ “ความเป็นไปได้” ทำลายความถูกต้อง เสียทั้งหมด เพราะจะส่งผล ให้งานวิจัยนั้น เชื่อถือไม่ได้

 

หลักเบื้องต้นในการวิจัย HOME วิธีการในการแสวงหาความรู้