เกณฑ์ในการพิจารณาว่ากิจกรรมใดเป็นงานวิจัย

การที่จะกำหนดว่า กิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง เป็นงานวิจัยหรือไม่นั้น บางกรณี ก็สามารถบอกได้ชัดเจน ว่าเป็นหรือไม่เป็นการวิจัย แต่ก็มีอยู่หลายกรณี ที่ไม่สามารถจะบอกให้แน่นอนลงไปได้ เช่น การทบทวนวรรณกรรม การรายงานผู้ป่วย บทฟื้นฟูวิชาการ หรือบทความพิเศษเป็นต้น

การพิจารณาว่ากิจกรรมใดเป็นงานวิจัย อาจใช้เกณฑ์สังเขปในการพิจารณา 4 ประการ คือ

เกณฑ์ข้อ 1 ความสมบูรณ์ของกระบวนการ
หมายความว่า การกระทำนั้นจะต้องใช้ทั้ง กาย วาจา และใจ (หรือปัญญา) (จรัส สุวรรณเวลา 2529)

(1) ใจหรือปัญญา ได้แก่ การใช้ความคิด ในการกำหนดปัญหาการวิจัย ที่ชัดเจน เหมาะสม มีคุณค่า และน่าสนใจ มีความมุ่งมั่น เพื่อการแสวงหาคำตอบ สำหรับปัญหาที่กำหนดนั้น จึงเกิดกระบวนการในขั้นที่สอง
(2) กาย ได้แก่ การกระทำที่เกิดขึ้น ในการดำเนินการวิจัย เช่น การเก็บรวบรวมข้อมูล การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ การแปลผลข้อมูล ตลอดจนการสรุปผลการวิจัย จากนั้นจึงเกิดกระบวนการขั้นสุดท้าย
(3) วาจา ได้แก่ การนำผลวิจัยที่ได้ ออกเผยแพร่ ซึ่งอาจจะเผยแพร่ โดยการเสนอในที่ประชุมวิชาการ หรือ เขียนลงตีพิมพ์ ในวารสารที่เชื่อถือได้ และเป็นที่ยอมรับ เพราะการวิจัย จะมีประโยชน์น้อยมาก ถ้าไม่มีการเผยแพร่ ในแวดวงวิชาการ

การศึกษาหรือกิจกรรมที่จะถือว่าเป็นการวิจัยนั้น ควรจะมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ข้อแรก คือมีความสมบูรณ์ของกระบวนการ

เกณฑ์ข้อ 2 ความลึกซึ้งของการค้นคว้า
หมายความว่า มีการค้นคว้าเรื่องนั้น ๆ อย่างลึกซึ้ง และอย่างเป็นระบบ ระเบียบ และมีเหตุผลในทุก ๆ ขั้นตอน ของการศึกษา ดังนั้น การทบทวนวรรณกรรม โดยการเอาบทคัดย่อมาต่อ ๆ กัน โดยไม่ได้ใช้วิจารณญาณ ในการวิเคราะห์ แปลผล และสรุปผล กิจกรรมเช่นนี้ ก็คงไม่อาจนับได้ว่าเป็นการวิจัย

เกณฑ์ข้อ 3 ความใหม่ของความรู้ที่ได
หมายความว่า กิจกรรมนั้น น่าจะก่อให้เกิดความรู้ใหม่ หรือค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่วงการนั้น ด้วยเหตุนี้ การวิจัยที่เลียนแบบ งานวิจัยของผู้อื่น ที่ได้ทำไว้อย่างถูกต้อง และน่าเชื่อถือแล้ว จึงไม่อาจนับว่า เป็นงานวิจัยได้

เกณฑ์ข้อ 4 ความถูกต้องและความเชื่อถือได้
ซึ่งรวมถึง ความถูกต้อง และความเชื่อถือได้ ของข้อมูล กระบวนการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจน การแปลผลข้อมูล โดยพยายามป้องกัน อคติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ในทุก ๆ ขั้นตอน ของการทำวิจัย ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ นับว่าเป็นหัวใจสำคัญ ของการทำวิจัย

นอกจากเกณฑ์สังเขป ทั้ง 4 ประการ ที่กล่าวมาแล้วนั้น อาจมีเกณฑ์อื่น ๆ ประกอบอีก เช่น ขนาด และขอบเขต ของงาน แม้กิจกรรมจะดำเนินการครบถ้วน ตามเกณฑ์ แต่ใช้ข้อมูลเพียงจำนวนน้อย และการศึกษาค้นคว้า ไม่ลึกซึ้งมาก กิจกรรมดังกล่าว อาจอยู่ในระดับที่เรียกว่า เป็นการศึกษาเบื้องต้น แต่ยังไม่ถึงระดับที่เรียกว่า เป็นการวิจัย การวิจัยโดยนัย ที่ใช้กันทั่วไปนั้น หมายถึง การศึกษาที่มีขอบเขต ทั้งด้านความกว้าง และความลึก สมควรแก่การนับเป็นงานวิจัย

หลักเบื้องต้นในการวิจัย HOME เป้าหมายของการวิจัย