แนวทางการดูแลรักษา
การใช้ยาทา (topical therapy) การใช้ยาแบบ systemic therapy การรักษาโดยวิธีอื่นๆ
่2. การใช้ยาแบบ systemic therapy
ยาคอติโคสเตอรอย์ชนิดรับประทาน อาจพิจารณาให้ระยะสั้น ในรายที่มีการดำเนินโรครวดเร็วและรุนแรง แต่อาจทำให้เกิดการกลับเป็นโรครุนแรงขึ้นภายหลังหยุดยาได้ (Rebound phenomenon)
Cyclosporine เป็น calcineurin inhibitor ยับยั้ง T lymphocyte โดยยับยั้ง cytokine transcription อาจพิจารณาให้ระยะสั้น ในการรักษาทั้งผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบปกติ ขนาดที่ใช้ในการรักษาคือ 2.5-5 มิลลิกรัม/ก.ก/วัน ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาคือ อาจทำให้ค่า creatinine ในซีรั่มสูงขึ้น และการทำงานของไตผิดปกติอย่างถาวรได้ จึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงของยา โดยการตรวจระดับ creatinine ในซีรั่มเป็นระยะ นอกจากนี้โรคอาจกลับเป็นขึ้นอีกอย่างรวดเร็วหลังจากหยุดยาได้
Interferon-gamma มีรายงานการทดลองใช้ ในการรักษาโรค พบว่าสามารถทำให้โรคดีขึ้น แต่พบผลข้างเคียงได้พอควร โดยเฉพาะ ไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ (Influenza-like symptom) ขนาดที่ใช้ในการรักษาคือ 50 มิลลิกรัม/ตารางเมตร/วัน
ยากดภูมิคุ้มกัน Mycophenolate mofetil (MMF) เป็น purine biosynthesis inhibitor พิจารณาให้ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีอื่น โดยให้ขนาด 2 กรัม วันละ 1 ครั้ง อย่างไรก็ดีการรรักษาด้วยยาชนิดนี้อาจไม่ได้ผลในผู้ป่วยบางราย ฉะนั้นภายหลังการรักษา 4-8 สัปดาห์ หากโรคไม่ดีขึ้นควรพิจารณาหยุดการรักษา
ยากดภูมิคุ้มกันอื่นๆ ได้แก่ Methotrexate, Azathioprine มีรายงานว่าสามารถช่วยให้โรคดีขึ้น โดยเฉพาะในรายที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาชนิดอื่น เนื่องจากผลข้างเคียงของยาค่อนข้างรุนแรงจึงควรนำมาใช้ด้วยความระมัดระวัง
ยารับประทานเพื่อลดอาการคัน ได้แก่
• Antihistamine เช่น hydroxyzine, loratidine, cetirizine ซึ่งมีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ ทำให้ง่วงซึม
• Tricyclic antidepressants เช่น Doxepin สามารถให้เพื่อลดอาการคัน itch-scratch cycle โดยเฉพาะอาการคันเวลากลางคืน โดยให้ขนาด 10-75 มิลลิกรัม ก่อนนอน ขนาดสูงสุดที่ให้ได้ในผู้ใหญ่คือ 75 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
• Mast cell stabilizer เช่น ketotifen
ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานเพื่อฆ่าเชื้อ S. aureus เช่น penicillinase resistant penicillin (dicloxacillin, oxacillin), macrolide antibiotics (erythromycin, clarithromycin) ควรพิจารณาให้ในรายที่มีการติดเชื้อ S. aureus ร่วมด้วยอย่างมาก
ยาต้านเชื้อไวรัส Herpes simplex เช่น Acyclovir พิจารณาให้ในรายที่มีการติดเชื้อไวรัสร่วมด้วย โดยให้ขนาด 400 มิลลิกรัม 3 ครั้งต่อวัน นาน 10 วัน หรือ 200 มิลลิกรัม 4 ครั้งต่อวัน นาน 10 วัน
อื่นๆ เช่น การรับประทานกรดไขมันจำเป็น (essential fatty acid) เช่น evening primrose oil หรือไขมันจากปลา จากการศึกษาที่ผ่านมาไม่พบหลักฐานยืนยันว่าสามารถรักษาโรคได้
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย