คุณสมบัติทางชีวภาพของอิมมูโนโกลบุลิน [1]-[2]-[3]-4
4. Immunoglobulin D

IgD มีปริมาณน้อยมากในน้ำเหลือง คือน้อยกว่า 0.5% ของอิมมูโนโกลบุลินในน้ำเหลืองหรือประมาณ 30 mg/ml เป็น monomer ซึ่งมีส่วน hinge region ยาวกว่าปกติ เป็นส่วนที่ถูกย่อยจากเอ็นซัยม์ได้ง่าย เป็นผลให้มีช่วงครึ่งชีวิต (half life) ค่อนข้างสั้น (2.8 วัน) ยังไม่พบคุณสมบัติทางชีวภาพที่สำคัญ IgD ส่วนใหญ่พบบนผิวของ mature B cell ร่วมกับ IgM โดยเป็นที่รับแอนติเจนและอาจสามารถกระตุ้นการทำงานของ B cell เช่นเดียวกับ IgM

5. Immunoglobulin E

IgE เป็นอิมมูโนโกลบุลินที่มีปริมาณน้อยที่สุดในน้ำเหลืองคนปกติ (< 0.01% ของอิมมูโนโกลบุลินในน้ำเหลือง) มีช่วงครึ่งชีวิต สั้นที่สุด (2 วัน)
IgE สามารถจับกับ Fc receptor บนผิวของ mast cell และ basophil (FceRI) ได้อย่างแน่นหนา เมื่อได้รับแอนติเจนหรือสารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ (allergen) ตัวเดิมเข้าไปอีก allergen จะไปจับกับ IgE และทำให้เกิดการเชื่อมโยงของ IgE ระหว่างโมเลกุลที่อยู่ใกล้กันมีผลให้มีการกระตุ้น mast cell และ basophil หลั่งสารต่างๆภายใน granule ออกมาทำให้เกิดภาวะภูมิแพ้อย่างเฉียบพลัน
IgE ยังมีบทบาทสำคัญในการทำลายเชื้อปรสิต เช่น helminth โดยสารที่หลั่งออกมาจาก mast cell บางตัวทำหน้าที่ chemotactic factor สามารถไประดมเซลล์และสารที่จำเป็นสำหรับการทำลายเชื้อที่เข้ามาได้ เช่น เม็ดเลือดขาว คอมพลีเมนท์ และ IgG เป็นต้น นอกจากนี้ IgE ยังสามารถทำลายเชื้อปรสิตโดยขบวนการ ADCC โดยจับกับที่รับ (FceRI) บน eosinophil กระตุ้นให้มีการหลั่งสารจากแกรนนูลของ eosinophil ซึ่งมีฤทธิ์รุนแรงเพียงพอที่จะทำลายเชื้อปรสิตได้

รายละเอียดคุณสมบัติอื่นๆ ของอิมมูโกลบุลินแต่ละชนิดแสดงไว้ในตารางที่ 2
[1]-[2]-[3]-4
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย