คุณสมบัติทางชีวภาพของอิมมูโนโกลบุลิน [1]-[2]-3-[4]
3. Immunoglobulin A
IgA มีปริมาณเพียง 10-15% ของอิมมูโนโกลบุลินในน้ำเหลือง แต่จะพบมากในสิ่งคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำนมมารดา น้ำตา น้ำลาย สิ่งคัดหลั่งในทางเดินอาหาร ปอด ทางเดินหายใจ และระบบขับถ่าย IgA ในน้ำเหลืองมักเป็น IgA1 และส่วนใหญ่เป็น monomer ส่วนในสิ่งคัดหลั่งซึ่งเรียก secretory IgA (sIgA) เป็น subclass IgA2 ส่วนใหญ่เป็น dimer ซึ่งเชื่อมด้วย J chain และ secretory component (SC)
J chain เป็น polypeptide (MW 15000 kD) สร้างโดย plasma cell ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากใต้เยื่อบุผิว (submucosa) ตามระบบต่างๆของร่างกาย J chain จะเชื่อม IgA 2 โมเลกุลเข้าด้วยกันเป็น dimeric IgA ก่อนหลั่งออกมาจาก plama cell dimeric IgA นี้จะไปจับกับ poly-Ig receptor ซึ่งสร้างโดย mucosal epithelial cell ของอวัยวะต่างๆ และปรากฎบนผิวเซลล์ ทำหน้าที่เป็นที่รับ dimeric IgA ก่อนถูกกลืนกินเข้าสู่เซลล์โดยวิธี endocytosis ในรูปของ membrane vesicle หลังจากนั้นจะถูกส่งผ่านเพื่อออกสู่ส่วนของ lumen โดยส่วนหนึ่งของ poly-Ig receptor ถูกเอ็นซัยม์ตัดย่อย ออกไป ส่วนที่เหลือเรียก secretory component จะติดอยู่กับ IgA และถูกหลั่งออกมาสู่สิ่งคัดหลั่งต่างๆ เป็น secretory IgA เพื่อทำหน้าที่ต่อไป (รูปที่ 15)
ในแต่ละวันร่างกายจะสร้าง secretory IgA เป็นจำนวนมากกว่าอิมมูโบโกลบุลินชนิดอื่นๆ คือสร้างได้ถึงวันละประมาณ 5-15 กรัม secretory IgA จึงมีบทบาทสำคัญมากในการเป็นด่านป้องกันการติดเชื้อต่างๆ ซึ่งมักจะเข้าสู่ร่างกายตามระบบเยื่อบุต่างๆ (mucosal immunity) โดยเฉพาะโรคติดเชื้อไวรัสและบัคเตรีของระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ secretory IgA จะจับกับจุลชีพเหล่านี้ก่อนที่จะเข้าสู่เซลล์ โดยวิธีการ neutralization หรือป้องกันการ colonization ของบัคเตรีบนผิวเซลล์เป้าหมาย secretory IgA ซึ่งจับกับเชื้อจุลชีพเป็น aggregated IgA สามารถทำลายเซลล์โดยขบวนการ ADCC โดยผ่านทาง FcaR บนผิวเซลล์บางชนิดและยังสามารถกระตุ้นคอมพลีเมนท์ผ่านทาง alternate pathway ได้ นอกจากนี้ secretory IgA ในน้ำนมมารดายังเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญจากแม่ที่ช่วยป้องกันทารกแรกคลอดได้

Mucosal immunity นี้อาจสร้างเสริมให้เพิ่มขึ้นได้โดยการให้วัคซีนทางระบบเยื่อบุ เช่น การให้วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอทางปาก จะทำให้มีการสร้าง secretory IgA เป็นจำนวนมาก ป้องกันการติดเชื้อโปลิโอที่อาจเข้าสู่ร่างกายภายหลังได้

[1]-[2]-3-[4]
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย