สิ่งที่ควรรู้ในการแปลผลปฏิกริยาน้ำเหลืองสำหรับโรคติดเชื้อ

สำหรับปฏิกริยาน้ำเหลืองที่ตรวจหาแอนติบอดีนั้น มีข้อควรรู้ดังนี้
1. ชนิดของแอนติบอดี
2. ประเภทของการติดเชื้อ
ชนิดของแอนติบอดี
ชนิดของแอนติบอดี ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันรูปแบบหนึ่งที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้น เป็นปฏิกริยา ‘ตอบโต้’ ต่อการติดเชื้อ และเรานำมาใช้ช่วยในการวินิจฉัยนั้น เป็นการตอบสนองต่อ ‘แอนติเจน’ ส่วนต่างๆ ของจุลชีพ ผู้เขียนจะขอแบ่งประเภทของแอนติบอดี ตามความสำคัญและบทบาททางคลินิกดังนี้
1. แอนติบอดีที่มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการติดเชื้อ เช่น การตรวจพบ anti-HBs (แอนติบอดีต่อ surface (s) antigen ของไวรัสตับอักเสบบี) ซึ่งอาจตรวจพบหลังจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ หรืออาจเกิดหลังจากการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นตัวบอกว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าว หากผู้ป่วยไม่เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องขึ้นในอนาคต ผู้ป่วยรายนั้น ไม่ควรจะเกิดอาการทางคลินิก จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอีก หรือการตรวจพบแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากได้รับวัคซีนป้องกันแล้ว ซึ่งเป็นตัวแทนที่ดีที่จะใช้บอกว่า ผู้ได้รับวัคซีนมีภูมิคุ้มกันต่อการเกิดโรค เป็นต้น ทั้งนี้ แอนติบอดีต่างๆ ดังกล่าว อาจเป็นตัวที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันโรคในร่างกายมนุษย์ (in vivo) จริง โดยอาจมีบทบาทขององค์ประกอบอื่นๆ ทางภูมิคุ้มกัน ทั้งที่ทราบแล้วและยังไม่ทราบ เข้ามาร่วมด้วย
หรือการตรวจพบแอนติบอดีชนิดที่เรียกว่า neutralizing antibody ซึ่งเป็นศัพท์ที่มักจะใช้กับการติดเชื้อไวรัสนั้น ตามคำจำกัดความโดยทั่วๆ ไป หมายถึงแอนติบอดีที่ไปจับกับ envelop spike ของไวรัส แล้วสามารถยับยั้งไวรัสนั้นๆ ไม่ให้เข้าไปติดเชื้อในเซลล์มนุษย์ได้ มีหลักฐานในทางคลินิกสำหรับไวรัสบางชนิด ในผู้ป่วยที่เกิด neutralizing antibody ในระดับที่สูงพอ หลังการติดเชื้อหรือหลังการฉีดวัคซีน มีความสัมพันธ์กับการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อไวรัสนั้นๆ อีก ซึ่งความสามารถในการป้องกันดังกล่าว อาจจะจำเพาะมากในระดับกลุ่มย่อย เช่น สำหรับไวรัส ไข้เลือดออก (dengue virus) ซึ่งมีอยู่ 4 ซีโรทัยป์ (serotype) นั้น neutralizing antibody ที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อตามธรรมชาติของซีโรทัยป์ใด อาจไม่มีผลป้องกันการเกิดโรคข้ามไปยังซีโรทัยป์อื่น เป็นต้น
2. แอนติบอดีที่ใช้ช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อ แต่ไม่มีความหมายในแง่การป้องกัน สำหรับบุคคลผู้นั้น กล่าวคือไม่ได้ทำหน้าที่เป็น ‘protective antibody’ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ anti-HIV ที่ใช้ตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสเอดส์ ซึ่งจะพบว่าหลังจากตรวจได้ผลบวกแล้ว ก็จะยังคงมีผลเป็นบวกไปตลอดชีวิต ในผู้ป่วยเกือบทั้งหมด ทั้งๆ ที่ยังสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสเอดส์ได้ในตัวผู้ป่วยอยู่ตลอดเวลา
มีตัวอย่างของโรคติดเชื้อไวรัสหลายชนิด ที่ผู้ที่เกิดอาการเจ็บป่วยทางคลินิกแล้ว มักจะไม่เกิดอาการซ้ำอีก เช่น หัดเยอรมัน (rubella) หรือโรคสุกใส (chickenpox หรือ varicella) นั้น อาจทำให้เกิดความเข้าใจว่า แอนติบอดีชนิด IgG ต่อโรคดังกล่าว ซึ่งมักจะตรวจพบได้ไปตลอดหลังจากการติดเชื้อ (ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบบมีอาการ หรือแบบไม่มีอาการ) เป็น ‘protective antibody’ นั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากประการแรก ส่วนของระบบภูมิคุ้มกัน ที่มีบทบาทที่แท้จริง ในการป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ของไวรัสต่างๆ เหล่านี้ อาจเป็นภูมิคุ้มกันส่วนอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ร่วมกัน และประการที่สอง มีผู้ติดเชื้อบางราย สามารถติดเชื้อดังกล่าวซ้ำได้อีก และมีอาการได้ เช่น การเป็นโรคสุกใสซ้ำๆ มากกว่าหนึ่งครั้ง ในบุคคลที่มีภูมิคุ้มกัน ‘ปกติ’ หรือรายงานการติดเชื้อซ้ำ (reinfection) ของหัดเยอรมัน (rubella) ในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ที่ตรวจพบ rubella IgG แล้ว ขณะมารับการฝากครรภ์ และทำให้เกิดการติดเชื้อของเด็กในครรภ์ จนเกิดกลุ่มอาการ congenital rubella syndrome (CRS) ในเด็กแรกเกิด เป็นต้น(Bullens et al., 2000) โดยมีคำอธิบายว่า หญิงมีครรภ์ที่ตรวจพบแอนติบอดีต่อ rubella แต่ยังติดเชื้อซ้ำได้นั้น ตรวจไม่พบ neutralizing antibody ในเลือด (ซึ่งเชื่อว่าเป็นตัวแทนของ protective antibody)