พยาธิสภาพและอาการ  (Pathology & Symptomatology)
        ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่มีพยาธิเข็มหมุด จะไม่มีอาการ  เนื่องจากพยาธิเข็มหมุดมักไม่ได้ก่อให้เกิดพยาธิสภาพ (relatively nonpathogenic) พยาธิตัวแก่อาจทำให้ระคายเคือง (irritation) ต่อเยื่อบุลำไส้ (intestinal mucosa) และก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน และท้องเดิน ได้  มีผู้ป่วยน้อยรายมากที่จะเกิดอาการอื่นๆ (systemic symptoms) เช่น ซีด หรือภาวะที่ีเม็ดเลือดขาวชนิด eosinophils ในเลือดเพิ่มสูง (eosinophilia)  แต่ไม่ใช่สิ่งที่พบเสมอไป เนื่องจากพยาธิเข็มหมุดไม่ได้มีระยะที่ต้องไชผ่านเนื้อเยื่อ (tissue-migrating stage) อีกทั้งไม่ได้อาศัยอยู่แบบทำอันตรายแก่ลำไส้ของคน นอกจากนี้ ยังอาจพบพยาธิเข็มหมุดได้ในไส้ติ่ง อย่างไรก็ตาม พยาธิเข็มหมุดไม่ใช่สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไส้ติ่งอักเสบ (appendicitis) อาการในผู้ป่วยที่พบบ่อย จะสัมพันธ์กับการที่พยาธิตัวเมียวางไข่ที่บริเวณปากทวารหนักในเวลากลางคืน ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคันบริเวณทวารหนัก (pruritus ani) จากภาวะ hypersensitivity reaction จนทำให้กระสับกระส่าย กังวล และหงุดหงิด  ซึ่งเป็นผลจากการนอนไม่เต็มที่โดยเฉพาะในเด็กๆ   นอกจากนี้มีรายงานว่าผลที่เกิดขึ้นอาจพบว่าผู้ป่วยโดยเฉพาะในเด็ก ไม่เจริญอาหาร น้ำหนักลด  มี hyperactivity นอนไม่หลับ ขบฟันเวลานอน และปัสสาวะรดที่นอน enuresis ได้  การเกาอย่างรุนแรงอาจทำให้เกิดแผลถลอกและติดเชื้อตามมา  ในเด็กผู้หญิงพยาธิเข็มหมุดอาจไปที่บริเวณช่องคลอด จนก่อให้เกิดช่องคลอดอักเสบ (vaginitis)   แต่มีน้อยรายมากที่จะเกิดการอักเสบของปีกมดลูก (salpingitis) หรือพบเป็นก้อน granuloma ในช่องท้อง (peritoneal cavity) และในกระเพาะปัสสาวะ ตามมา