การตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งคือการตรวจหาโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการ  ซึ่งจุดประสงค์ของการตรวจคัดกรองนั้นเพื่อลดอัตราการป่วยและอัตราการตายในผู้ที่ได้รับการตรวจ โดยที่การทดสอบนั้นต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่แพงเกินไปและสามารถทำได้ในประชากรกลุ่มใหญ่ (1,2)  การตรวจคัดกรองไม่ใช่การวินิจฉัยเป็นเพียงแต่เครื่องมือชี้นำว่าน่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้นำไปสู่การตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่นอนและการรักษาที่ถูกต้อง ลักษณะความแตกต่างที่สำคัญของการทดสอบในการตรวจคัดกรองหาโรคกับการทดสอบที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยเป็นดังตารางที่ 1

 

ตารางที่ 1 ลักษณะสำคัญที่แตกต่างของการทดสอบในการตรวจคัดกรองหาโรคกับการทดสอบที่ใช้ตรวจวินิจฉัย (3)

การทดสอบในการตรวจคัดกรอง

การทดสอบในการตรวจวินิจฉัย

  1. ใช้ในกลุ่มที่ไม่มีอาการ
  2. ราคาถูก 
  3. โอกาสตรวจพบโรคต่ำกว่า
  4. ถ้ามีการผิดพลาดของการทดสอบจะมีผลเสียเกิดขึ้นน้อย
  1. ใช้ในกลุ่มที่มีอาการ
  2. ราคาแพงกว่า
  3. โอกาสตรวจพบโรคสูงกว่า
  4. ถ้าการทดสอบผิดพลาดจะมีผลให้การรักษาล่าช้าและพยากรณ์โรคไม่ดี

 

การตรวจคัดกรองโรคจะทำในประชากร 2 กลุ่มคือ  กลุ่มแรกควรเป็นประชากรที่มีความชุกของโรคนั้นสูงพอสมควรเพื่อมีโอกาสค้นหาผู้ป่วยได้จำนวนมาก  และกลุ่มที่สองทำการตรวจเฉพาะในกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคสูง  ดังนั้นโรคมะเร็งที่พบได้บ่อยก็ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคในประชากรทั่วไปเช่น มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเต้านมเป็นต้น  ส่วนโรคมะเร็งตับชนิด hepatocellular carcinoma ควรจะได้รับการตรวจคัดกรองในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งก็คือประชากรที่มีตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบบีและซี  การพิจารณาว่าการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดใดจะมีประโยชน์นั้นประเมินได้จากสิ่งต่อไปนี้คือ
1. โรคมะเร็งชนิดนั้นพบได้บ่อยและเป็นปัญหาทางสาธารณสุข

2. สามารถลดอัตราการตายหรือเพิ่มระยะเวลาการมีชีวิตของผู้ป่วยได้

3. สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือการรักษาได้ผลดีในกรณีที่เป็นระยะเริ่มแรก

4. วิธีการตรวจต้องปลอดภัย  เป็นที่ยอมรับของประชาชน  และไม่มีปัญหาทางด้านจริยธรรม

5. เสียค่าใช้จ่ายไม่มาก