มะเร็งผิวหนัง

 

อุบัติการณ์ของมะเร็งผิวหนังเพิ่มขึ้นทั่วโลก  แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 มีการเพิ่มของมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนม่าร้อยละ 120 ในเพศชายและร้อยละ 48 ในเพศหญิง (20)  แต่ยังไม่แน่ชัดว่าอุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องมาจากการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วยจริงหรือจากการจัดทำทะเบียนผู้ป่วยมะเร็ง  ในปี ค.ศ.1995 มีรายงานผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนม่ารายใหม่จำนวน 34,100 ราย เสียชีวิตจำนวน 7,200 ราย  ส่วนมะเร็งผิวหนังชนิดที่ไม่ใช่เมลาโนม่ามีผู้ป่วย 700,000 รายต่อปี (20)  สหรัฐอเมริกายังคงตามหลังประเทศอื่นในการหาวิธีลดอุบัติการณ์การเกิดและอัตราการตายของมะเร็งผิวหนัง  ในขณะที่ออสเตรเลียซึ่งมีรายงานการเกิดมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนม่ามากที่สุดได้มีการวางแผนในการลดอัตราการตายของผู้ป่วยอย่างได้ผลดี (21)  การตรวจคัดกรองหามะเร็งผิวหนังต้องอาศัยการซักประวัติและการตรวจทั่วร่างกายอย่างละเอียด (22-25)  แม้ว่ายังไม่มีการศึกษาแบบสุ่มเปรียบเทียบในการตรวจคัดกรองหามะเร็งผิวหนังแต่ก็พบว่าการตรวจคัดกรองนี้อาจลดอัตราการตายได้เนื่องมาจากการวินิจฉัยตั้งแต่เริ่มแรก (26-28)
 
สำหรับแนวทางในการตรวจคัดกรองนั้นยังไม่มีข้อตกลงที่แน่นอน  แต่ละสถาบันมีข้อแนะนำดังนี้
  • US Preventive Services Task Force มีเพียงข้อแนะนำว่าควรมีการตรวจคัดกรองในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งผิวหนังสูงเช่น เคยเป็นหรือมีบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง, เป็น precursor lesions หรือต้องสัมผัสกับแสงแดดมาก  แต่ก็ไม่มีรายละเอียดว่าต้องตรวจอย่างไร (29)
  • สมาคมโรคมะเร็งของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ประชาชนทั่วไปที่มีอายุเกิน 20 ปีควรได้รับการตรวจผิวหนังทุก 3 ปีหรือบ่อยกว่านั้นในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง (20)
  • สถาบันโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกาเชื่อว่าการตรวจคัดกรองมีประโยชน์แต่ก็ไม่มีข้อแนะนำในรายละเอียด (30)
  • ผู้เชี่ยวชาญบางท่านให้ข้อแนะนำว่าควรตรวจกรองทุกปีและตรวจสม่ำเสมอในผู้สูงอายุหรือแพทย์ทางผิวหนังควรตรวจกรองเมื่อพบผู้ป่วยรายใหม่ที่มาตรวจโรคทางผิวหนังทุกราย (24,31,32)

 

ลักษณะต่างของมะเร็งผิวหนังชนิด melanoma รอยโรคมักมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม นูน ขอบไม่เรียบ

 

มะเร็งผิวหนังชนิด squamous cell carcinoma

มะเร็งผิวหนังชนิด basal cell carcinoma