Trichinosis (trichiniasis, trichinelliasis)

เกิดจาก พยาธิตัวกลม ชนิด Trichinella spiralis โรคนี้ พบในคน ที่ชอบทาน เนื้อสัตว์ ดิบๆสุกๆ ที่มีตัวอ่อน ของพยาธิชนิดนี้ฝังอยู่ โดยมากเกิดในหมู่คนเป็นจำนวนมาก และเป็นครั้งคราว พบระบาดได้ทั่วไปในโลก ส่วนมากพบระบาดบ่อยในเขตเมืองร้อน

ประเทศไทยมีรายงานการระบาดครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2505 ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และปีถัดมาที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ รายงานการระบาดส่วนใหญ่มาจากทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ ลำปาง และกำแพงเพชร เป็นต้น รายงานการระบาดส่วนน้อยมาจาก ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดชัยภูมิ และ ภาคกลางที่จังหวัดกาญจนบุรี ผู้ป่วยส่วนใหญ่เกิดจากการทานเนื้อหมูดิบๆสุกๆ และนำมาปรุงเป็นอาหารพื้นเมือง เช่น ลาบดิบ แหนมดิบ และหลู้ เป็นต้น ส่วนมากเป็นหมูชาวเขา และหมูป่า นอกจากนี้มีรายงานจากการทานเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ แบบสุกๆดิบๆ เช่น เนื้อกระรอก เนื้อสุนัข และเนื้อหมี ส่วนทางแถบขั้วโลก นิยมทานเนื้อ แมวน้ำ และสิงห์โตทะเล เป็นต้น

วงจรชีวิต ตัวแก่เพศผู้และเพศเมียอาศัยอยู่ในลำไส้เล็กส่วนปลายและลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู หรือคน เป็นต้น มีขนาดประมาณ 1-4 เซ็นติเมตร โดยฝังตัวอยู่ในเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ ภายหลังจากการผสมพันธุ์ตัวเมียจะปล่อยตัวอ่อน (larvae) ออกมาเป็นจำนวนมาก และตายไปพร้อมกับตัวแก่เพศผู้ ตัวอ่อนเหล่านี้จะเข้าสู่กระแสโลหิตหรือน้ำเหลือง และไปฝังตัว(encysted)อยู่ตามบริเวณกล้ามเนื้อลายต่างๆ เช่น กระบังลม กล้ามเนื้อ gastrocnemius กล้ามเนื้อซี่โครง (intercostal muscle) กล้ามเนื้อ deltoid กล้ามเนื้อ gluteus และกล้ามเนื้อ pectoris เป็นต้น ตัวอ่อนที่อยู่ในกล้ามเนื้อเหล่านี้จะขดตัวฝังอยู่เป็น cyst นอกจากนั้นตัวอ่อนยังสามารถพบในเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น หัวใจ ปอด สมอง และเยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น

การติดต่อ:- เมื่อคนทานอาหารที่ปรุงแต่งด้วยเนื้อสัตว์อย่างดิบๆสุกๆ และภายในมีตัวอ่อนของ cyst ที่ยังมีชีวิตอยู่ เข้าสู่ลำไส้เล็ก น้ำย่อยในลำไส้จะย่อย cyst ปล่อยตัวอ่อนออกมา และเจริญเป็นตัวแก่เพศผู้และเพศเมีย ภายหลังผสมพันธุ์ได้ตัวอ่อนออกมาเป็นจำนวนมาก ตัวอ่อนเหล่านี้จะเข้าสู่กระแสโลหิต เพื่อไปฝังตัวในกล้ามเนื้อของอวัยวะต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น จำนวนมากน้อยมีผลต่อความรุนแรงของโรค และ cyst เหล่านี้จะฝังอยู่ในกล้ามเนื้อคนตลอดไป ตราบเท่าที่คนผู้นั้นมีชีวิตอยู่ หรือตัวอ่อนอาจถูกทำลายไปและมีหินปูนมาพอก ขึ้นกับประสิทธิภาพของระบบภูมิต้านทานในร่างกายคนผู้นั้น

อาการทางคลีนิค และพยาธิสภาพ

ระยะที่ตัวแก่อยู่ในลำไส้ มักไม่ก่ออาการบ่อยนัก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย หรือท้องผูก และปวดท้อง ส่วนน้อยมีอาการคันตามตัว พยาธิสภาพของลำไส้มีลักษณะบวมแดงและมีการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้ villi ของลำไส้บวมมีการขับเมือก (mucin) ออกมามากกว่าปกติ เซลล์อักเสบส่วนมากเป็นชนิด eosinophils

ระยะที่ตัวอ่อนเข้าสู่กระแสโลหิต ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อและมีอาการบวมที่หนังตา แขนและขา(353)ในเลือดพบ eosinophils สูง พยาธิสภาพของกล้ามเนื้อที่มี cyst ของตัวอ่อนพบเป็น fibrous tissue มาล้อมรอบและมีเซลล์อักเสบชนิด lymphocytes และ eosinophils เซลล์กล้ามเนื้อรอบๆตัวอ่อนจะตายหรือมีการเปลี่ยนแปลงแบบ hyaline degeneration เมื่อตัวอ่อนตายจะมีสารแคลเซี่ยมมาพอก สำหรับหัวใจระยะแรกพบพยาธิสภาพของการบวมกระจายแทรกไปตามกล้ามเนื้อหัวใจ พร้อมเซลล์อักเสบชนิดเฉียบพลันโดยเฉพาะชนิด eosinophils และหย่อมกล้ามเนื้อตาย มักไม่พบตัวอ่อนของพยาธิในกล้ามเนื้อหัวใจ ในสมองพบเซลล์อักเสบทั่วไปในชั้นเยื่อหุ้มสมอง และในเนื้อสมองพบ gliosis เป็นหย่อมเล็กทั่วไปรอบๆหลอดเลือดฝอย บางรายพบ glomerulonephritis เนื่องจากภูมิต้านทานต่อโรค อัตราการตายของโรคนี้พบน้อย นอกจากในรายที่พบการติดเชื้อจากพยาธิชนิดนี้มากกว่าปกติทำให้กล้ามเนื้อถูกทำลายมาก โดยเฉพาะกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการหายใจ และเกิดโรคแทรกเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือในรายที่มีพยาธิสภาพของหัวใจร่วมด้วย หัวใจทำงานไม่ปกติและเป็นสาเหตุการตายได้

การวินิจฉัยโรค โดยการตัดกล้ามเนื้อมาตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบตัวอ่อนในกล้ามเนื้อหรือการตรวจเลือดด้วยวิธี enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA), precipitin-complement fixation และ flocculation test