Onchocerciasis
(Blinding filarial disease, Roble's disease, craw-craw, river blindness, gale filarienne)

เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิฟิลาเรีย ที่มีชื่อว่า Onchocerca volvulus โดยพบการติดเชื้อพยาธิฟิลาเรียได้ที่ผิวหนัง เนื้อเยื่อ subcutaneous tissues ท่อน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง และในลูกตา โรคนี้พบระบาดตามบริเวณฝั่งตะวันตกและตอนกลางของทวีปอัฟริกา แถบคาบสมุทรอาราเบีย เยเมนเหนือ เม็กซิโก กัวเตมาลา เวนเนซูเอลา และบางส่วนของประเทศโคลัมเบียและบราซิล โรคนี้เป็นปัญหาทางสาธารณสุข ปั่นทอนทางเศรษฐกิจ และสุขนามัยของประชากรในท้องถิ่นที่โรคนี้ระบาด และมีแพทย์น้อยรายที่เข้าใจและศึกษาโรคนี้อย่างจริงจัง พาหะนำเชื้อชนิดนี้ ได้แก่ แมลง black fly ใน genus Simulium แมลงชนิดนี้กัดคนและปล่อยตัวอ่อนระยะติดต่อ microfilariae เข้าสู่ผิวหนัง โดยฝังตัวอยู่อย่างอิสระใต้ผิวหนัง ส่วนมากไม่เข้าสู่กระแสโลหิตหรือหลอดน้ำเหลือง ส่วนน้อยอาจพบได้ที่ไต ตับ ตับอ่อน และปอด ที่ใต้ผิวหนังตัวอ่อนเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ ทำให้เกิดเป็นตุ่มที่ผิวหนัง อาจเป็นตุ่มเดียวหรือหลายตุ่ม ตุ่มเหล่านี้เรียกว่า Onchocercoma ในอัฟริกาตุ่มเหล่านี้มักจะเป็นที่ผิวหนังติดกับกระดูกสะโพกหรือกระดูกขา แต่ในอเมริกากลางมักพบที่หนังศีรษะ ใบหน้า และคอ

อาการทางคลีนิคและพยาธิสภาพ ผิวหนังที่เกิดโรคมักพบเป็นตุ่มบวมคันและสีคล้ำ โดยมากพบเป็นที่ขาข้างเดียว ไม่ค่อยพบที่แขน ต่อมน้ำเหลืองมักโต และพบเป็นแบบ follicular hyperplasia พยาธิสภาพทางกล้องจุลทรรศน์ของตุ่มเหล่านี้ ประกอบด้วยตัวแก่เพศผู้ ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปต่อตัวแก่เพศเมีย 1 ตัว พยาธิเหล่านี้อาจยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว การอักเสบจะรุนแรงในกรณีที่พยาธิตาย พยาธิสภาพประกอบด้วยเซลล์อักเสบชนิด neutrophils และ eosinophils พร้อมกับมี fibrosis ต่อมากลายเป็นก้อนพังผืดแข็งหนา

ตัวอ่อนอาจเคลื่อนที่ไปยังผิวหนังข้างเคียง ทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ผู้ป่วยมีอาการคันและเกาที่ผิวหนัง ทำให้เกิดการอักเสบแทรกซ้อนจากการติดเชื้อบักเตรีได้ ผิวหนังบริเวณดังกล่าวจะเกิดเป็นผื่นสีคล้ำและจางสลับกันไปเป็นบริเวณกว้าง นอกจากนั้นยังทำให้เกิดจุดเลือดออกตามบริเวณผิวหนังพร้อมกับพบเซลล์อักเสบทั่วไป ถ้าเป็นเรื้อรัง ผิวหนังจะบวมและหนามีอาการคันเป็นครั้งคราว บางรายเกิดเป็นโรคเท้าช้าง หรือมีต่อมน้ำเหลืองโต ถ้าเกิดที่ใบหน้าทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า leonine facies.

นอกจากนี้บางแห่งทางตะวันตกของทวีปอัฟริกาที่โรคนี้ระบาด พบผู้ป่วยเป็นจำนวนมากตาบอด โดยตัวอ่อน microfilaria ไชเข้าไปอยู่ใน กระจกตา บางรายเข้าไปอยู่ใน anterior chamber, จอรับภาพ และน้ำหล่อเลี้ยงลูกตา เป็นต้น

การวินิจฉัย: โดยการตรวจพบตัวอ่อน microfilaria หรือตัวแก่ของพยาธิชนิดนี้