Larva migrans
 
Larva migrans หมายถึง การเคลื่อนที่ ไปตาม อวัยวะต่างๆ ภายใน ร่างกาย และหรือ ผิวหนัง ของผู้ถูก อาศัย (host) โดย ตัวอ่อน ของพยาธิ บางชนิด ส่วนมาก เป็น พยาธิตัวกลม หรือ แมลง บางอย่าง และ ผู้ถูก อาศัย (host) เหล่านี้ เป็นสิ่ง ผิดปกติ ที่ตัวอ่อน ไปอาศัยอยู่ เช่น คน เป็นต้น เนื่องจาก คน ไม่ใช่ ที่อยู่ ตามธรรมชาติ ของวงจรชีวิต ของพยาธิ เหล่านี้ ตัวอ่อน ไม่สามารถ เจริญเติบโต เป็นตัวแก่ ในร่างกาย คน จึงเดิน เพ่นพล่าน ไปตาม เนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย เกิดคำ เรียกว่า larva migrans

Cutaneous larva migrans (creeping eruption) เป็นโรคผิวหนังติดเชื้อที่เกิดจากการเคลื่อนที่ไปตามผิวหนังของตัวอ่อนของพยาธิ หรือแมลงบางอย่าง โดยทั่วไปเกิดจากตัวอ่อนระยะที่ 3 ของพยาธิปากขอชนิด Ancylostoma braziliensis และ Ancylostoma caninum ชึ่งเป็นพยาธิปากขอของสุนัขและแมว โรคนี้มักพบในประเทศเมืองร้อนและชี้นแฉะ แต่บางตำราได้จัดรวมเอาตัวอ่อน filariform ของ พยาธิตัวกลมชนิด Strongyloides sp. และ Gnathostoma spinigerum เข้าไว้ด้วย

การติดเชื้อ พยาธิสภาพ และอาการทางคลีนิค จากฝุ่น ดินหรือทราย ที่มีอุจจาระของแมวหรือสุนัขปะปนอยู่ ตัวอ่อนระยะติดต่อจะไชเข้าสู่ผิวหนัง และค่อยๆคืบคลานไปตามระหว่างชั้นของผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเกิดเป็นร่องคดเคี้ยว (serpiginous tunnel) ต่อมาเกิดเป็นตุ่มใสขนาดเล็ก (vesicle) ขึ้นตามร่องเหล่านี้ เรียกพยาธิสภาพบนผิวหนังเช่นนี้ว่า creeping eruption โดยมากพบร่องในลักษณะนี้หลายๆร่อง เช่น พบตามหัวเข่า ต้นขา หน้าแข้ง หรือมือและแขน เป็นต้น พยาธิสภาพที่ตรวจพบเซลล์อักเสบชนิดเรื้อรังและเซลล์ eosinophils เนื่องจากผู้ป่วยมีอาการคันที่ผิวหนังมากทำให้เกิดรอยเกาที่ผิวหนัง ผิวหนังเกิดภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อบัคเตรีได้ พยาธิสภาพของ creeping eruption สามารถหายเองได้ ไม่ต้องรักษาด้วยยาใดๆ

Visceral larva migrans (VLM) เป็นกลุ่มอาการ (syndrome) อย่างหนึ่งที่พบได้บ่อยในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ขวบ ในเลือดตรวจพบ eosinophils สูงเป็นเวลานาน พร้อมกับมีไข้ ตับ ม้ามโต และมีอาการทางระบบหายใจ เป็นต้น ส่วนมากผู้ป่วยมีประวัติกินดินกินทราย ลักษณะอาการดังกล่าวนี้ เข้าได้กับอาการทางคลีนิคของ tropical infiltrative eosinophilia, Loeffler's syndrome หรือ benign eosinophilic leukemia ต่อมาพบว่าตัวอ่อนของพยาธิตัวกลมในลำไส้ของสุนัขชื่อว่า Toxocara canis และของแมวชื่อว่า Toxocara catis เป็นตัวการสำคัญของกลุ่มอาการนี้

นอกจากนี้ กลุ่มอาการดังกล่าวยังพบได้จากการติดเชื้อพยาธิตัวกลมหลายชนิดที่มีระยะวงจรชีวิตนอกทางเดินอาหารเช่น ascaris, gnathostomiasis, capillaria hepatica, strongyloidiasis, พยาธิปากขอ (hook worm) และ Ancylostoma caninum หรือจากพยาธิใบไม้ เช่น schistosomiasis และ fascioliasis เป็นต้น และยังมีรายงานที่เกิดจากตัวอ่อนของแมลงบางชนิด

วงจรชีวิต พยาธิตัวกลม Toxocara canis เป็นพยาธิที่พบได้ทั่วไปในโลก ปกติเป็นปาราสิตในลำไส้ของ สุนัขบ้าน หมาป่า สุนัขจิ้งจอก เป็นต้น วงจรชีวิตของมันต้องอาศัยลูกสุนัข โดยเฉพาะลูกสุนัขที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนมีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าลูกสุนัขติดเชื้อตัวอ่อนพยาธิชนิดนี้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยเชื้อผ่านทางรก ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ไชทะลุผนังลำไส้ เดินทางเข้าสู่ปอด เจริญเติบโตเป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 และในที่สุดลงสู่ลำไส้ เจริญเติบโตเป็นตัวแก่ หลังผสมพันธุ์ตัวเมียจะวางไขออกมาเป็นจำนวนมาก ปะปนออกมากับอุจจระของลูกสุนัข สำหรับในสุนัขที่โตแล้ว มักจะพบตัวอ่อนของพยาธิเดินเพ่นพล่านไปฝังตัวตามเนื้อเยื่อต่างๆ ยกเว้นสุนัขตัวเมียที่ตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายสุนัขที่ตั้งครรภ์จะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้พยาธิไชผ่านรกไปยังลูกสุนัขในครรภ์ เพื่อให้ครบวงจรชีวิต

การติดเชื้อในคน ไข่ของพยาธิเหล่านี้ปะปนอยู่ตามดิน โดยเฉพาะดินทราย(clay soil)ในพื้นที่ที่มีอาการร้อนชื้น ดังนั้นเด็กเล็กที่คนเลี้ยงนำไปเล่นตามพื้นดินที่มีไข่ของพยาธิปะปนอยู่ หรือไปเล่นกับลูกสุนัข หรือแมว มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่าย โดยทานไข่ของพยาธิชนิดนี้เข้าทางปาก หรือบางรายจากการทานเนื้อสัตว์ที่มีตัวอ่อนฝังอยู่อย่างดิบๆสุกๆ ตัวอ่อนระยะที่สองของพยาธิชนิดนี้จะฟักออกจากไข่ ที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น และไชทะลุผ่านเยื่อบุผนังลำไส้คน เข้าสู่กระแสเลือดดำพอทัล (portal circulation) และไปที่ตับ กระแสโลหิตจะพัดพาต่อไปที่ปอด และเข้าสู่กระแสโลหิตทั่วร่างกายต่อไป

ตัวอ่อนพยาธิเหล่านี้ เมื่อถูกพัดมาติดที่เส้นเลือดขนาดเล็ก จนมันไม่สามารถถูกพัดพาไปที่ใดได้อีก มันจะไชทะลุผนังเส้นเลือด และเดินเพ่นพล่านไปในเนื้อเยื่อรอบข้าง บางขณะจะหยุดนิ่งอยู่เฉยๆนานเป็นปีไม่ไปไหน เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งจะเริ่มเคลื่อนไหว และเดินเพ่นพล่านเช่นนี้ต่อไป บางครั้งตัวอ่อนเหล่านี้จะถูกกำจัด หรือไม่ก็สร้างเกราะหุ้มรักษาตัวอ่อนไว้ภายใน โดยปฎิกิริยาตอบสนองของอวัยวะในร่างกายคน

พยาธิสภาพ ส่วนมากเกิดจากการเดินเพ่นพล่านของตัวอ่อนไปตามอวัยวะต่างๆ ทำให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อ และเกิดการอักเสบ เกิดหนองฝีขนาดเล็กจำนวนมากในเนื้อเยื่อของอวัยวะ ส่วนมากประกอบด้วยเซลล์อักเสบชนิด eosinophils เป็นส่วนใหญ่ และหรือพร้อมกับการอักเสบชนิด granuloma ได้ (eosinophilic granulomatous inflammation) ในคนมักพบที่ตับ พบว่าตับโต มีก้อนสีขาวเทาขนาดเล็กทั่วไปในเนื้อตับ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ถึง 4 มิลลิเมตร พยาธิสภาพทางกล้องจุลทรรศน์ประกอบด้วย เศษเนื้อตายเป็นหย่อม เซลล์อักเสบส่วนใหญ่เป็นชนิด eosinophils, Langhan's giant cells และตัวอ่อนของพยาธิในก้อนเล็กๆเหล่านี้ ส่วนมากกลายเป็นหนองฝีขนาดเล็กในตับเรียกว่า eosinophilic abscesses พยาธิสภาพดังกล่าวพบได้ในต่อมน้ำเหลือง นอกจากนั้นอาจพบตัวอ่อนไปที่กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบรุนแรง ไปที่สมองทำให้สมองอักเสบ หรือพบตัวอ่อนในลูกตา ทำให้เกิดพยาธิสภาพการอักเสบแบบ granulomatous ที่ posterior chamber ของลูกตา ทำให้เกิดการหลุดลอกของจอรับภาพ และทำให้เกิด endophthalmitis ได้

อาการทางคลีนิค ส่วนมากเป็นกับเด็ก โดยมากมีไข้ ไอ ซึ่งเป็นลักษณะของหลอดลมอักเสบ หรืออาการของหืด น้ำหนักลด และซีด จำนวนเม็ดโลหิตขาวในเลือดสูง โดยเฉพาะ eosinophils พบเป็นจำนวนมากกว่าปกติ (hypereosinophilia) ตับโต และในเลือดพบ hypergammaglobulinemia มี IgG, IgM และ IgE สูง ในเด็กส่วนมากพบมีอัตราส่วนของ anti-A และ anti-B สูง เนื่องจาก antigen ที่ผิวนอกของตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ เหนี่ยวนำให้เกิด isohemagglutinins.

อาการทางคลีนิคเหล่านี้หายได้เองในเวลาไม่กี่สัปดาห์ โดยไม่ต้องรักษาด้วยยาจำเพาะใดๆ แต่ลักษณะ eosinophilia จะยังคงอยู่นาน บางรายเกิดการอักเสบต่อลูกตาในระยะหลัง แต่บางรายไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการ VML ดังกล่าวเลย ผู้ป่วยมีการอักเสบทางตาอย่างเดียว ทำให้ต้องถูกผ่าลูกตาออก เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นมะเร็ง retinoblastoma

การวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยโรคนี้ค่อนข้างยาก โดยการตัดชิ้นเนื้อดูพยาธิสภาพ พร้อมกับพบตัวอ่อน ทางกล้องจุลทรรศน์ เช่นชิ้นเนื้อจากตับ หรือ ต่อมน้ำเหลือง เป็นต้น หรือทำ indirect hemagglutination test, bentonite flocculation test, double diffusion in agar, และ enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA) ซึ่งเป็นวิธีที่มีความไวต่อเชื้อ T canis มาก เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรค toxocariasis.