Gnathostomiasis (โรคพยาธิตัวจี๊ด)

โรค Gnathostomiasis (หรือเรียกว่า Yangtze edema หรือ choko-fushu ในภาษาญี่ปุ่น, หรือไทยเรียกว่า โรคพยาธิตัวจี๊ด) เกิดจากตัวอ่อนของพยาธิตัวกลม มีชื่อว่า Gnathostoma spp. เป็นโรคที่จัดอยู่ในพวก "cutaneous larva migrans" ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะพยาธิ์ตัวจี๊ดชนิด Gnathostoma spinigerum เท่านั้น ทั้งนี้เพราะพยาธิ์ตัวจี๊ดชนิดนี้เป็นตัวก่อโรคที่สำคัญในคนบริเวณแถบเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะประเทศไทย

โรคพยาธิ์ตัวจี๊ดเป็นปัญหาทางสาธารณสุขและการรักษา นอกจากอันตรายจากการติดเชื้อแล้ว ยังไม่มีตัวยาใดที่ให้การรักษาอย่างได้ผล ประเทศไทยมีรายงานการระบาดของพยาธิ์ชนิดนี้ในหมู่ประชากรเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีรายงานการตรวจพบที่ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซึย เวียดนาม กัมพูชา ลาว พม่า มาเลเชีย พยาธิ์ตัวจี๊ดชนิด Gnathostoma spinigerum พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2379 (ค.ศ.1836) ได้จากก้อนเนื้องอกในกะเพาะอาหารของเสือที่ตายในสวนสัตว์กรุงลอนดอน ต่อมาปี พ.ศ.2432 (ค.ศ.1889)มีรายงานการตรวจพบในไทยโดยพบพยาธิ์ตัวจี๊ดจากเต้านมหญิงไทยเป็นครั้งแรก ในระหว่างปีพ.ศ.2476 ถึง พ.ศ.2480 นพ.เฉลิม พรหมมาศ และนพ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้ทำการศึกษาและรายงานวงจรชีวิตพร้อมกับแสดงให้เห็นว่า กุ้งไรและปลาน้ำจืด เป็น intermediate host ที่สำคัญของตัวอ่อนระยะที่ 1 และ 2 ตามลำดับ จากนั้นมีรายงานการเกิดโรคในอวัยวะต่างๆเรื่อยมา เชื่อว่ารายงานการตรวจพบจากไทยมีมากที่สุด เนื่องจากประชากรไทยชอบทานอาหารดิบๆเช่น ปลาน้ำจืดอย่างสุกๆดิบๆ โดยเฉพาะส้มฟัก มักถูกกล่าวถึงบ่อยในรายงานการติดเชื้อพยาธิ์ตัวจี๊ด นอกจากนี้ยังมี ปลาร้า ลาบดิบ แหนมสด และปลาเผาที่ปรุงไม่สุก เป็นต้น จากการสำรวจระหว่างปีพ.ศ.2504-2506 เชื่อว่ามีประชากรไทยป่วยเป็นโรคนี้ถึง 900 คนต่อปี

วงจรชีวิต ปกติตัวแก่ของพยาธิชนิดนี้อาศัยอยู่ในกะเพาะของสัตว์ที่เป็น definite host ได้แก่สัตว์จำพวกแมว เสือชนิดต่างๆ และสุนัข ภายหลังการผสมพันธุ์ ตัวแก่เพศเมียจะปล่อยไข่จากผนังกะเพาะออกมาปะปนกับอุจจระ เมื่อไข่อยู่ในน้ำระยะหนึ่ง ตัวอ่อน(larvae)ระยะแรกจะฟักออกจากไข่และเข้าสู่กุ้งไร(cyclop)เพื่อเป็นตัวอ่อนระยะที่สอง จากนั้นกุ้งไรจะถูกกินโดย ปลา กบ งู หรือนก เป็นต้น ตัวอ่อนระยะที่สองจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะที่สามเข้าไปฝังอยู่(encyst)ตามกล้ามเนื้อของสัตว์เหล่านี้ สัตว์ที่ติดเชื้อตัวอ่อนระยะที่สามจะถูก definite hostกินอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ตัวอ่อนเจริญเป็นตัวแก่ต่อไปครบวงจรชีวิต คนไม่ใช่ definite host ดังนั้นในคนจึงพบเพียงตัวอ่อนระยะที่สาม (advanced third stage larvae) แต่อย่างไรก็ตามมีรายงานพบตัวแก่ในอวัยะคนได้ แต่ไม่บ่อยนัก

การติดโรค คนติดโรคได้โดยทานปลาดิบที่มีตัวอ่อนระยะที่สามของพยาธิตัวจี๊ด สัตว์อื่นๆก็เช่นกันสามารถติดโรคนี้ได้ถ้าทานปลาที่มีตัวอ่อนชนิดนี้ เช่น ไก่ หมู หรือนก เป็นต้น เมื่อคนทานเนื้อของสัตว์ดังกล่าวแบบดิบๆสุกๆก็สามารถติดโรคนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากคนไม่ใช่ที่อยู่ตามธรรมชาติในวงจรชีวิตของพยาธิชนิดนี้ ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นตัวแก่ในร่างกายคนได้ จึงเดินเพ่นพล่านไปตามเนื้อเยื่อของอวัยวะต่างๆในร่างกายทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า larva migrans เมื่อเดินไปตามชั้นผิวหนัง ทำให้ผิวหนังบวม เรียกว่าบวมเคลื่อนที่ (migratory swelling) ตัวอ่อนที่เคลื่อนนี้อาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 12 ปี

อาการทางคลีนิค อาการจะเกิดภายใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังจากทานปลาดิบหรือเนื้อดิบของสัตว์ที่มีตัวอ่อนอยู่ ผู้ป่วยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียร น้ำลายไหล ใบหน้าร้อน คัน เป็นลมพิษ และมีอาการจุกเสียด แน่นหรือปวดท้อง ตรวจเลือดพบเม็ดเลือดขาวสูงโดยเฉพาะ eosinophils สูงถึงร้อยละ 90 ขณะตัวอ่อนเคลื่อนที่ไป จะทำให้เกิดอาการปวดท้องด้านขวาบนอย่างรุนแรง ภายใน 3 ถึง 4 อาทิตย์ ตัวอ่อนจะเข้าสู่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ทำให้อาการและการตรวจพบในระยะแรกหายไปหรือพบน้อยลง ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะเรื้อรัง ตัวอ่อนจะคลืบคลานไปตามผิวหนัง ทำให้เกิดอาการบวมใต้ผิวหนัง ผิวหนังบริเวณนั้นจะบวมแดง คัน หรือปวดรุนแรง อาการบวมดังกล่าวเป็นอยู่ประมาณ 10 วัน และเกิดเป็นขึ้นมาอีกใน 2 ถึง 6 อาทิตย์ ในกรณีที่พบในลำไส้ ผู้ป่วยมีอาการปวดท้อง อาจพบก้อนโตในท้อง มีเลือดออกในทางเดินอาหารและลำไส้ หรือพบลำไส้อุดตัน ส่วนมากพบทำให้เกิดโรคที่ลำไส้ใหญ่ส่วน cecum หรือพบที่ทวารหนัก มีรายงานทำให้เกิดไส้ติ่งและช่องท้องอักเสบ ถ้าไปที่ปอดทำให้ปอดและเยื่อหุ้มปอดอักเสบ กรณีไปที่ลูกตา ทำให้ตาบวมและแดง มองภาพไม่ชัด โดยมากพบตัวแก่ระยะสามใน anterior chamber หรือพบตัวแก่ทำให้เกิดแผลที่กระจกตาดำ เมื่อเคลื่อนไปที่ทางเดินปัสสวะ ทำให้ปวดท่อปัสสวะ ปัสสวะลำบาก ถ่ายปัสสวะเป็นเลือด ส่วนมากพบตัวแก่ของพยาธิ์ออกมากับปัสสวะ ในกรณีเคลื่อนไปตามไขสันหลัง ทำให้มีอาการชา แขนขาอ่อนแรง และเป็นตัวการทำให้เกิด eosinophilic myeloencephalitis และ cavernous sinus thrombosis.ได้ นอกจากนี้มีรายงานการพบพยาธิ์ตัวจี๊ดในปาก เช่น พบที่เหงือกและเยื่อบุผิวในช่องปาก และลิ้น ปลายองคชาด และเป็นตัวการทำให้เกิดการตกเลือดในช่องคลอด

พยาธิสภาพ พบว่าผิวหนังบริเวณที่ตัวอ่อนชอนไช มีลักษณะบวมน้ำ พบจุดเลือดออกเป็นหย่อม เซลล์อักเสบประกอบด้วย eosinophils, lymphocytes, plasma cells เป็นส่วนใหญ่ มี neutrophils บ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ยังพบเศษเนื้อตายพร้อมกับ fibrosis ในบริเวณดังกล่าว มากน้อยขึ้นกับความรุนแรงและระยะเวลาที่ตรวจพบ พยาธิสภาพที่พบในทางเดินอาหาร เป็นลักษณะการอักเสบแบบ granulomatous ที่บริเวณร่องทางเดินของพยาธิ์ พร้อมกับเซลล์อักเสบชนิด eosinophil เป็นจำนวนมากในบริเวณที่อักเสบ นอกจากนั้นยังพบการอักเสบของหลอดเลือดแดง (endarteritis) และต่อมน้ำเหลืองของเนื้อเยื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้น บางครั้งไม่พบพยาธิ์ตัวจี๊ด พยาธิแพทย์มักให้การวินิจฉัยว่าเป็น eosinophilic gastritis หรือ eosinophilic enterocolitis เป็นต้น

ส่วนที่สมองและไขสันหลังพบจุดเลือดออกและเศษเนื้อตายพร้อมเซลล์อักเสบทั่วไปเป็นร่องทางเดินในไชสันหลังโดยเฉพาะบริเวณทางออกของรากประสาท จากส่วนล่างของไขสันหลังขึ้นไปถึงสมอง สมองบวมและแดง ภายในเนื้อสมองพบการตกเลือดในชั้น subarachnoid และ ventricles พร้อมกับเนื้อสมองตายเป็นหย่อมมีเซลล์อักเสบกระจากไปทั่ว เยื่อบุสมองหนาพร้อมเซลล์อักเสบโดยเฉพาะชนิดeosinophils รอบๆหลอดเลือดมีการบวมพร้อมพบเซลล์อักเสบชนิด lymphocytes, plasma, และ eosinophils และพบมีการทำลายเซลล์ประสาทและปลอกหุ้มใยประสาท

ส่วนมากพบตัวอ่อนหรือตัวแก่เพศผู้หรือเพศเมียในชิ้นเนื้อที่ตัดส่งพิสูจน์ โดยทั่วไปตัวอ่อนมักไม่ค่อยเคลื่อนที่ไปยังอวัยวะดังกล่าวบ่อยนัก มักอยู่ตามบริเวณใต้ผิวหนังเป็นส่วนใหญ่

การวินิจฉัย พบตัวอ่อนหรือตัวแก่ Gnathostoma spinigerum ในบริเวณที่อักเสบ หรือจากการหาปฎิกิริยาทางภูมิคุ้มกันต่อพยาธิ์ตัวจี๊ดที่ผิวหนัง