โรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิด filaria
Filariasis

โรคฟิลาริเอซิส(หรือชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โรคเท้าช้าง) เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิด filaria และชนิดแรกที่รู้จักคือ Wuchereria bancrofti ตัวอ่อนของพยาธิ(microfilaria)ถูกพบเป็นครั้งแรกในถุงน้ำ(hydrocoel) และต่อมาพบในปัสสวะและเลือดตามลำดับ Bancroft เป็นคนแรกที่พบตัวแก่ของพยาธิชนิดนี้ และได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2420(คศ.1877) ต่อมาในปีพ.ศ.2470 Lichtenstein และ Brug ได้พบความผิดปกติบางประการของโรคที่เข้าใจว่าเกิดจาก Wuchereria bancrofti ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา และ Brug ได้ตั้งชื่อพยาธิตัวกลมที่พบนี้ว่า Wuchereria malayi และต่อมาเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้พบ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Brugia malayi

Wuchereria bancrofti พบระบาดตามชายฝั่งตะวันออกและตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ บางส่วนของทวีปอเมริกาเหนือและทวีปอเมริกากลาง แถบทะเลคาริเบี่ยน แถบชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนของทวีปอัฟริกา อินเดีย จีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และบางส่วนของเอเชียอาคเนย์ นอกจากนี้ยังพบได้ตามบริเวณตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ประเทศไทยมีรายงานการระบาดจากจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณชายแดนไทย-พม่า

สำหรับพยาธิชนิด Bougia malayi ส่วนมากพบระบาดในประเทศทางแถบเอเชียอาคเนย์ ส่วนน้อยพบบริเวณตอนกลางและตอนใต้ของประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดียตอนใต้และศรีลังกา สำหรับประเทศไทยพบระบาดแถบชายฝั่งตะวันออกทางภาคใต้ของไทย ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส เนื่องจากเป็นที่ราบต่ำ เหมาะต่อการทำนา มีภูเขาเตี้ยเป็นหย่อมๆ พร้อมกับมีแอ่งน้ำแช่ขังลักษณะแบบทุ่งพรุทั่วไป ภูมิประเทศแบบนี้เหมาะสำหรับเป็นที่เพาะพันธุ์ยุงชนิดนำโรคเท้าช้าง ประชาชนในจังหวัดภาคใต้ของไทยประมาณร้อยละ 21 ติดเชื้อพยาธิชนิดนี้ แต่พบเป็นโรคเท้าช้างเพียงร้องละ 5.2-5.3 เท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นชนิด periodic บางส่วนเป็น sub-periodic

คนเป็น definitive host พยาธิเข้าสู่ร่างกายคนได้โดย ถูกยุงกัดยุงเป็นพาหะนำเชื้อและเป็น intermediate host ของพยาธิชนิดนี้ พยาธิฟิลาเรียชนิด Wuchereria bancrofti มียุง Culex Aedes และ Anopheles เป็นพาหะนำเชื้อ ส่วนชนิด Brugia malayi มียุง Mansonia, Aedes และ Anopheles เป็นพาหะหรือ intermediate host

วงจรชีวิต: ยุงขณะกัดผู้ป่วย จะดูดเลือดที่มีตัวอ่อน microfilariae ลงสู่กระเพาะ ตัวอ่อนไชทะลุกระเพาะไปฝังตัวอยู่ตามกล้ามเนื้อหน้าอกของยุง เจริญเติบโตไปเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ (infective filariform larvae) และเคลื่อนตัวไปอยู่ที่ปาก (proboses) ของมัน เมื่อยุงกัดคน infective larvae เข้าสู่ผิวหนังไปตามหลอดน้ำเหลือง ตัวอ่อนเหล่านี้ใช้ระยะเวลานานในการเจริญเติบโตเป็นตัวแก่เพศผู้และเพศเมีย ตัวแก่อาศัยอยู่ในต่อมน้ำเหลือง ลูกอัณฑะ (testis) และ epididymis มันสามารถอาศัยอยู่ในอวัยวะเหล่านี้ได้นานเป็นปีโดยผู้ป่วยไม่ปรากฏอาการแต่อย่างไร เมื่อโตเต็มที่ตัวเมียจะปล่อยตัวอ่อน microfilariae เข้าสู่กระแสโลหิตต่อไป

อาการทางคลีนิค อาการของโรคมักเกิดหลังจากติดเชื้อแล้วนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ส่วนมากไม่มีอาการ และมีน้อยรายที่ติดเชื้อแล้วมีอาการทางคลีนิค

แบ่งอาการทางคลีนิคออกเป็น 2 แบบ

1. ระยะเฉียบพลัน (acute stage) ผู้ป่วยมีไข้ เกิดการอักเสบของหลอดน้ำเหลืองและต่อมน้ำเหลือง (lymphangitis และ lymphadenitis) โดยมากตรวจพบเชื้อในท่อน้ำเหลืองหรือต่อมน้ำเหลืองของอวัยวะต่างๆที่สำคัญได้แก่ บริเวณขา ช่องท้องด้านหลัง ท่อนำเชื้ออสุจิ(spermatic cord) แหล่งพักน้ำเชื้อ(epididymis) และเต้านม เป็นต้น โดยเฉพาะที่ท่อนำเชื้ออสุจิพบตัวอ่อนพยาธิบ่อยและมากที่สุดโดยเฉพาะชนิด W.bancrofti ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการลมพิษ (urticaria) ร่วมด้วย ตรวจเลือดพบ eosinophils สูงพร้อมกับพบตัวอ่อน (microfilariae)

2. ระยะเรื้อรัง (chronic stage) ผู้ป่วยมีต่อมน้ำเหลืองโต คลำดูแข็งเหมือนยาง ส่วนมากเกิด hydrocoele และ elephantiasis (โรคเท้าช้าง) เนื่องจากตัวแก่ของพยาธิตาย ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดน้ำเหลือง เป็นผลทำให้เกิดการอุดตันของต่อมน้ำเหลืองต่างๆ เช่น ถ้าเกิดบริเวณกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดปัสสวะปนน้ำเหลือง (chyluria) หรืออุดตันบริเวณช่องท้องทำให้เกิดน้ำในช่องท้อง ชนิด chyloperitoneum และตามแขนขาทำให้เกิด elephantiasis

ในรายที่เกิด elephantiasis พบว่าร้อยละ 95 จะเป็นที่ขากับอวัยวะเพศ บริเวณที่พบน้อยรองลงไป ได้แก่ที่แขนและเต้านม สำหรับชนิด Brugia malayi ทำให้เกิดโรคเท้าช้างของ ขา เป็นส่วนใหญ่ อาจเกิดที่แขนร่วมด้วยบ้าง ไม่พบเป็นที่อวัยวะเพศและเต้านม ซึ่งผิดจากชนิด Wuchereria bancrofti พบได้หลายแห่ง ส่วนมากพบเป็นแถวอวัยวะเพศ และผู้ป่วยที่เป็นโรคเท้าช้างมักตรวจพบตัวพยาธิในเลือดน้อยหรือไม่พบเลย นอกจากนี้ยังพบว่า ชนิด Brugia malayi พบในเด็กเล็กได้บ่อยกว่า ชนิด Wuchereria bancrofti

นอกจากนี้ในผู้ป่วยบางรายยังพบอาการของตุ่มแดงที่ใต้ผิวหนัง ตุ่มนี้จะปวดเจ็บ เนื่องจากมีพยาธิที่ตายฝังอยู่ใต้ผิวหนัง

พยาธิสภาพ ต่อมน้ำเหลืองโต เกิดจากตัวแก่ของพยาธิชนิดนี้ โดยในระยะแรกเกิดการขยายตัวของหลอดน้ำเหลือง และผนังชั้นใน (endothelium) ของหลอดน้ำเหลืองหนาขึ้น พร้อมกับมีเซลล์อักเสบชนิด lymphocytes, histiocytes, plasma cells และ eosinophils มาอยู่รอบๆตัวแก่ ต่อมากลายเป็นพยาธิสภาพแบบ granulomatous reaction โดยมี epitheloid cell และ giant cells อยู่ตามรอยแผลเหล่านี้ เมื่อตัวแก่ตายทำให้เกิดปฏิกิริยาต่างๆตามมา เช่น เกิดการอักเสบและมี necrosis เกิดขึ้น พร้อมกับมีการอุดตันของหลอดน้ำเหลือง บางรายพบม้ามโตร่วมด้วย พยาธิสภาพเมื่อมองด้วยตาเปล่าพบเป็นก้อนขาวใหญ่เล็กทั่วไปในม้าม ภายในก้อนเหล่านี้พบการอักเสบแบบ granuloma และเศษชิ้นส่วนของตัวอ่อน microfilaria อยู่ภายใน granuloma

นอกจากนี้เข้าใจว่า W.bancrofti และ B.malayi ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า tropical eosinophilia หรือ Weingartner's syndrome หรือ eosinophilic lung หรือ tropical pulmonary eosinophilia ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไอ ตรวจปอดพบเสียง wheezing และพบ eosinophils ในเลือดสูง และภาพรังสีพบ diffuse pulmonary infiltration

การวินิจฉัยโรค โดยการตรวจหา microfilariae ในเลือด ควรเจาะเลือดในเวลากลางคืน และย้อม thick film ด้วย Giemsa หรือตรวจหาตัวพยาธิโดยการทำ imprint จากชิ้นเนื้อสดของต่อมน้ำเหลือง นอกจากนี้อาจวินิจฉัยการติดเชื้อด้วยการตรวจทางวิทยาอิมมูนเช่น วิธี enzyme-linked immunosorbent assay เป็นต้น