Intestinal capillariasis
เป็นโรคที่ทำให้เกิดท้องร่วงรุนแรงและเรื้อรัง Chitwood และคณะได้รายงานพยาธิซึ่งพบโดย นส. NG.Salazas และเป็นตัวก่อโรคในคนเป็นครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.2506 ที่ประเทศฟิลิปปินส์ คือ พยาธิตัวกลมชื่อ Capillaria philippinensis และถือเป็นรายแรกในโลกที่เกิด intestinal capillariasis ในคน สี่ปีต่อมา ระหว่างปีพ.ศ.2510 ถึง พ.ศ.2512 ได้เกิดการระบาดใหญ่บนเกาะลูซอนในประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้ป่วยติดเชื้อชนิดนี้มากกว่า 1000 ราย และเสียชีวิตร้อยละ 30 ผู้ป่วยส่วนมากมีอาการท้องร่วงเรื้อรัง ซูบผอม และขาดอาหารอย่างรุนแรง จนถึงกับเสียชีวิตถ้าไม่ได้รับการรักษา โรคนี้มีรายงานพบเฉพาะในทวีปเอเชีย เช่นประเทศฟิลิปปินส์ ไทย และญี่ปุ่น และเร็วๆนี้มีรายงานจากประเทศอิหร่าน

เมื่อปีพ.ศ.2516 มีรายงานการติดเชื้อพยาธิขนิดนี้รายแรกในประเทศไทย พบในผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 18 เดือน อยู่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ต่อมามีรายงานการติดเชื้อชนิดนี้จากภาคต่างๆของไทย ปีพ.ศ.2524 มีรายงานการระบาดของโรคท้องร่วงเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อ Capillaria philippinensis ครั้งแรกในไทย ที่หมู่บ้าน อาหวด หมู่ 9 ตำบลดินแดง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 20 ราย และต่อมามีรายงานจำนวนเพิ่มเติมจากการระบาดในจังหวัดศรีสะเกษอีกเป็นจำนวนมาก รายงานส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่หรือเคยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ นครพนม อุดรธานี มหาสารคาม ภาคกลางพบที่ สมุทรปราการ สระบุรี อยุธยา นครปฐม กำแพงเพชร ภาคเหนือพบที่ เพชรบูรณ์ ประชากรส่วนใหญ่มีนิสัยชอบทานอาหารประเภทดิบๆสุกๆ เช่น ปลาดิบ โดยเฉพาะก้อยปลา กุ้งดิบ หรือเครื่องในวัวสุกๆดิบๆ

การติดเชื้อ เชื่อว่าผู้ป่วยติดเชื้อปาราสิตชนิดนี้ได้จากการทานปลาดิบที่มีตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ วงจรชีวิตของมันยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน ตัวแก่ในลำไส้มีขนาดเล็กมาก สีขาว ตัวแก่เพศผู้มีความยาว 2.3 ถึง 3.17 มิลลิเมตร ตัวแก่เพศเมียมีความยาว 2.5 ถึง 4.3 มิลลิเมตร ไข่มีขนาด 45 คูณ 21 ไมครอน มีรูปร่างคล้ายถั่วpeanut ขั่วสองข้างแบน(bipolar, non-portuberant) intermediate host ได้แก่ ปลาน้ำจืด(freshwater fish) สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเจริญเติบโตของตัวอ่อน เข้าใจว่า พวกนกกินปลา เป็นแหล่งเก็บเชื้อ(natural reservoirs) เมื่อสัตว์หรือคนทานปลาดิบๆเข้าสุ่รางกาย ตัวอ่อนจะเจริญเป็นตัวแก่ในลำไส้เล็กส่วนต้น โดยเฉพาะบริเวณ duodenum มีการเพิ่มจำนวนในลำไส้คน(hyperinfection) และเกิดการติดเชื้อภายในคนเอง(autoinfection) นอกจากนี้เชื่อว่ามีการติดเชื่อระหว่างคนกับคนได้

อาการทางคลีนิค ส่วมมากเป็นในผู้ใหญ่ อายุระหว่าง 20-40 ปี มีอาการปวดท้อง ท้องอืด มีเสียงลำไส้เคลื่อนไหวดัง(borborygmus) ท้องเดิน อุจจระเป็นน้ำไม่มีมูกเลือด ถ่ายเป็นจำนวนมาก และวันละหลายครั้ง อาการท้องเดินเป็นๆหายๆมานานเป็นเดือนหรือปี ต่อมาร่างกายซูบผอม กล้ามเนื้อตามแขนขาลีบ น้ำหนักลด ในระยะหลังมีอาการบวม อาจให้การวินิจฉัยผิดว่าเป็นโรค nephrotic syndrome ได้ โดยทั่วไปทำให้ผู้ป่วยเกิด protein losing enteropathy มีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ สูญเสียการดูดซึมน้ำตาล(D-xylose)และไขมัน ถ้าเป็นรุนแรงและทิ้งไว้นาน ผู้ป่วยอาจถึงตายได้

พยาธิสภาพ พบว่าผนังลำไส้เล็กหนา พื้นผิวนูน ลำไส้มักจะพองและมีของเหลวขังอยู่ภายใน ตรวจของเหลวเหล่านี้พบตัวแก่ ตัวอ่อน และไข่ ของพยาธิชนิดนี้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบของเหลวชนิดเดียวกันนี้ได้ที่ กะเพาะอาหาร หลอดอาหาร ทางเดินหายใจส่วนต้น(larynx) และลำไส้ใหญ่ เมื่อตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ ตรงบริเวณ jejunum และส่วนต้นของ ileum พบตัวแก่และตัวอ่อนฝังตัวที่บริเวณ crypts ของเยื่อบุผิว บางครั้งส่วนปลายของตัวแก่ไชทะลุถึงชั้น lamina propria ของลำไส้ ในชั้นนี้อาจพบตัวอ่อนและไข่ฝังอยู่ด้วย โดยทั่วไป villi มักจะแบนราบและหดหายไป ลักษณะดังกล่าวไม่พบที่กะเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้ใหญ่ พยาธิสภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้การดูดซึมอาหารเป็นไปด้วยความลำบาก ทำให้ผู้ป่วยเกิดสภาวะขาดอาหารได้ นอกจากนี้ยังพบ vacuole ในซัยโตพลาสม์ของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อลาย และไต (proximal convoluted tubule) เนื่องจากเกิด hypokalemia ตับพบ centrilobular necrosis และ fatty metamorphosis นอกจากนี้ยังอาจพบร่วมกับพยาธิอื่นๆได้ เช่น พบพยาธิปากขอ พยาธิในตับ พยาธิไส้เดือนกลม พยาธิแส้ม้า และ opisthorchis เป็นต้น

การวินิจฉัย โดยการตรวจอุจจระพบไข่ ตัวแก่หรือตัวอ่อนของพยาธิ์ชนิดนี้ หรือตรวจชิ้นเนื้อพบตัวแก่หรือตัวอ่อนภายในลำไส้