โรคพยาธิปากขอ
Ancylostomiasis (uncinariasis, hook worm disease )

เป็นโรคที่เกิดจากพยาธิตัวกลมชนิด Ancylostoma duodenale และหรือ Necator americanus (พยาธิปากขอ) ผู้ป่วยอาจมีพยาธิชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงชนิดเดียว หรือทั้งสองชนิดร่วมกัน ในประเทศไทยมีรายงานพยาธิปากขอชนิด Ancylostoma ceylanicum ทั้งในคน และสัตว์จำพวก สุนัขและแมว

โรคนี้พบได้ทั่วไป ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก ติดเชื้อพยาธิเหล่านี้ โดยเฉพาะในประชากรที่ยากจนและการสาธารณสุขไม่เจริญพอ สำหรับประเทศไทยพยาธิปากขอเป็นพยาธิที่พบได้ทั่วไป อัตราการติดพยาธิปากขอโดยเฉลี่ยทั่วประเทศคิดเป็นร้อยละ 21 ในปีพ.ศ.2500 และร้อยละ 40.56 ในปีพ.ศ.2523 โดยมีอัตราการติดพยาธิปากขอสูงสุดทางภาคใต้ของประเทศ ถือเป็นโรคพยาธิในลำไส้ที่เกิดกับประชากรไทยมากที่สุด และก่อให้เกิดโรคโลหิตจางในหมู่เด็กเล็กและเด็กนักเรียนไทย

วงจรชีวิต ตัวแก่อาศัยอยู่ในลำไส้เล็กของคน ตัวเมียจะปล่อยไข่ออกมากับอุจจาระ ไข่จะเจริญเติบโตต่อไปเป็นตัวอ่อนระยะต่างๆตามพื้นดิน จนได้ตัวอ่อนระยะติดต่อ filariform ตัวอ่อนระยะนี้จะไชผ่านผิวหนังคนเข้าไปในหลอดน้ำเหลือง (lymphatic vessels) และหลอดเลือดดำเล็ก (venules) เพื่อไปสู่ปอด ขณะอยู่ในกระแสโลหิตของปอด ตัวอ่อนจะไชทะลุผ่านหลอดเลือดฝอยเข้าสู่ช่องว่างของถุงลมปอด (alveolar sac) และผ่านออกมาตามทางเดินหายใจส่วนต้น แล้วเข้าสู่ทางเดินอาหารต่อไป ที่ลำไส้เล็กส่วนต้น ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตเป็นตัวแก่เพศผู้และเพศเมีย ตัวแก่เหล่านี้จะใช้ปาก (buccal capsule) กัดติดกับเยื่อบุผนังล้ำไส้

นอกจากนี้ สุนัข และคน ยังสามารถติดเชื้อผ่านทางปากได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะพยาธิปากขอชนิด Ancylostoma ceylanicum

อาการทางคลีนิคและพยาธิสภาพ ขณะที่ตัวอ่อน filariform ไชผ่านผิวหนังของคนจะทำให้เกิดอาการคันที่บริเวณนั้น โดยเฉพาะที่ง่ามเท้า ทำให้เกิด dermatitis และระยะที่ตัวอ่อนผ่านเข้ามาในปอด จะทำให้เกิดปอดอักเสบ (bronchopneumonia) และมีจุดเลือดออกทั่วไปในเนื้อปอด ผู้ป่วยจะมีอาการไอเป็นเสมหะ ในเลือดมี eosinophils สูง

สำหรับตัวแก่เมื่ออยู่ในลำไส้คน ปากของมันกัดติดกับเยื่อบุผนังลำไส้ ทำให้เกิดแผลและจุดเลือดออกที่ mucosa และ submucosa พร้อมกับเซลล์อักเสบชนิด eosinophils ต่อมน้ำเหลืองบริเวณ mesentery มักโตและมีการอักเสบ (mesenteric lymphadenitis) ตัวแก่ดูดเลือดจากผนังลำไส้ ประมาณกันว่าตัวแก่แต่ละตัวดูดเลือดไปประมาณ 0.097 ถึง 0.26 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อวัน หรือเฉลี่ยวันละ 26.4 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อคน ในการทำให้เกิดอาการโรคโลหิตจาง เป็นโรคโลหิตจางชนิด hypochromic microcytic anemia พร้อมกับขาดธาตุเหล็ก (iron deficiency) ถ้าเกิดในเด็ก จะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะขาดอาหาร (nutritional deficiency) การเจริญเติบโตช้าทั้งร่างกายและจิตใจ

เนื่องจากพยาธิปากขอดูดเลือดจากผนังลำไส้ได้เป็นเวลานาน จึงมีผู้นำพยาธิชนิดนี้มาช่วยรักษาผู้ป่วยที่เป็น congenital polycythemia ชึ่งเป็นโรคที่มีการสร้างเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติแต่กำเนิด แทนที่การดูดเลือดออกจากเส้นเลือดตามแขนขา (phlebotomy) อย่างที่เคยทำกันมา

การวินิจฉัยโรค-โดยการตรวจไข่จากอุจจาระ หรือตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิที่มีตัวอ่อนหรือตัวแก่และไข่จากเนื้อเยื่อของอวัยวะที่อักเสบ