Preoperative and postoperative care in children

การดูแลเด็กโต โดยทั่วไปคล้ายกับในผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ปริมาณน้ำ เกลือแร่ และยาที่ใช้ ซึ่งควรคำนวณจากน้ำหนักตัวของเด็กเสมอ ในเด็กเล็กยิ่งต้องเคร่งครัดมาก หลักการใหญ่ๆ สำหรับการดูแลสภาพทั่วไป ก่อนและหลังผ่าตัดในเด็ก โดยเฉพาะในเด็กเล็กมีดังนี้

1. Temperature ควรควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้ปกติ โดยพยายามลดทั้งการสูญเสียความร้อน และการเพิ่มความร้อนให้แก่เด็ก ขณะผ่าตัด ไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศเย็นจัด ควรใช้เตียงผ่าตัดที่มีผ้าห่มปรับอุณหถภูมิ เพื่อเพิ่มความอบอุ่น และตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายเด็กเป็นระยะ หลังผ่าตัด ควรจัดให้เด็กอยู่ในสถานที่และพื้นผิวอบอุ่น ลมผ่านน้อย ความชื้นสูง ถ้าจำเป็น ควรให้เด็กเล็กอยู่ใน incubator หรือใช้ radiant warmer

2. Hypoglycemia เกิดได้บ่อยในเด็กเล็กหลังผ่าตัด ควรป้องกันโดยให้อาหารเมื่อถึงเวลา ถ้ายังให้อาหารทางปากไม่ได้ ควรให้น้ำเกลือ และกลูโคส ทางหลอดเลือดดำให้พอเพียง ในกรณีมีอาการที่สงสัยว่าจะเกิดจาก hypoglycemia เช่น อาการเกร็ง ควรให้กลูโคส พร้อมกับเจาะตรวจน้ำตาลในเลือดก่อนให้

3. Fluid and electrolytes ควรป้องกันและแก้ไขภาวะ dehydration เด็กแรกคลอดที่มีน้ำหนักในเกณฑ์ปกติ ต้องการน้ำ 60-70 มล/กก น้ำหนักตัวในวันแรก ความต้องการจะเพิ่มขึ้นจนถึงวันละ 100-120 มล/กก ในวันที่ 5 หลังคลอด เด็กที่มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ ต้องการน้ำเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 30 ในระยะหลังผ่าตัด ปริมาณน้ำที่ต้องการจะลดลง เพราะมีภาวะ stress เกิดขึ้น ทำให้เกิด water retention ได้ง่าย ดังนั้นในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ควรให้น้ำเพียง 1 ใน 2 ของปริมาณปกติ ที่เด็กต้องการ ในช่วง 24-48 ชั่วโมงต่อมาควรให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 ใน 3 และเพิ่มต่อมาเป็น 3 และ 4 หลังจากนั้นจึงให้น้ำได้ตามปริมาณปกติ

ในเด็กโตปริมาณน้ำที่ต้องการในแต่ละวันคำนวณได้ตามสูตรดังนี้

น้ำหนัก 10 กก แรก ให้ 100 มล/กก/วัน
น้ำหนัก 10 กก ต่อไป ให้ 50 มล/กก/วัน
น้ำหนักที่เกิน 20 กก ให้ 20 มล/กก/วัน

ในระยะ 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด ควรลดปริมาณน้ำที่ให้ลงหนึ่งในสาม ในวันต่อมาให้เพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 ของปริมาณปกติที่ต้องการ และหลังจากนั้น ก็ให้น้ำได้ตามปริมาณปกติ ทั้งนี้ควรประเมินผลการให้น้ำ จากสภาพของเด็ก รวมทั้งพิจารณาดูปริมาณ และความเข้มข้นของปัสสาวะด้วย

4. Acid-base จำเป็นต้องตรวจและแก้ไข ให้อยู่ในภาวะที่สมดุลย์ โดยเฉพาะในโรคที่มีแนวโน้มเป็น acidosis สูง เช่น diaphragmatic hernia หรือโรคที่อาจเกิด alkalosis เช่น hypertrophic pyloric stenosis

5. Hypocalcemia เกิดได้ง่ายในเด็กที่ไม่ได้รับอาหารทางปาก และทำให้กระตุกจนถึงชักได้ จึงต้องให้แคลเซี่ยมทดแทนเป็นระยะ

6. Jaundice ส่วนมากเป็น physiologic ในระยะแรกคลอด ถ้าระดับ bilirubin สูงกว่า 15 มล/100 มล. ควรให้ phototherapy เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น kernicterus ในรายที่ไม่ใช่ physiologic ควรทำการวิเคราะห์ และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ

7. Sepsis เป็นปัญหาสำคัญในเด็กเล็ก เพราะภูมิต้านทานต่ำ จึงต้องใช้มาตรการป้องกัน และให้การรักษาทันที ที่มีการติดเชื้อ อีกทั้งพิจารณาให้ prophylatic antibiotics ในกรณีผ่าตัดใหญ่

8. Body weight ควรชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ เพื่อช่วยประเมินสภาพ hydration และ physiologic status ของเด็ก

9. Special care อื่นๆ เช่น

การช่วยหายใจ ควรใช้ mask หรือ endotracheal tube ที่ขนาดพอดีกับตัวเด็ก และต้องใช้ความระมัดระวังในการบีบ ambu bag
Loss จากท่อระบาย หรือท่อ nasogastric ต้องทดแทนด้วยสารน้ำชนิดและปริมาณที่เหมาะสม เช่น gastric contents ทดแทนด้วย half-strength saline
ในเด็ก เมื่อมีอาเจียน อาจสำลักเข้าหลอดลม เกิดการอุดตันทางเดินหายใจ จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือเกิด atectectasis หรือปอดบวมได้ ดังนั้นถ้าสงสัยว่าจะมีทางเดินอาหารอุดตัน ควรใส่ท่อ nasogastric ไว้ดูด contents และลมเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว

Transfer of pediatric patients
ในกรณีที่เด็กเล็ก หรือเด็กแรกคลอด มีภาวะรีบด่วนทางศัลยกรรม และไม่สามารถให้การรักษาในสถานพยาบาลนั้นได้ ควรติดต่อส่งผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลศูนย์ หรือโรงเรียนแพทย์ เพื่อรับการรักษาต่อ แต่ควรให้การรักษาเบื้องต้น ก่อนจะส่งผู้ป่วย ในระหว่างการเดินทาง จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

1. ให้การรักษาเบื้องต้น ให้เด็กอยู่ในสภาพดีพอที่จะเดินทาง เช่น ให้น้ำเกลือ และอาจต้องให้ต่อขณะเดินทาง
2. ควบคุมอุณหภูมิในร่างกายเด็กให้อบอุ่นเสมอ ในเด็กเล็กควรใส่มาในตู้อบเคลื่อนที่ หรือห่อหุ้มมาอย่างมิดชิด เพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อน ทารกที่เป็น gastroschisis จะเสียความร้อนและน้ำได้อย่างมาก จึงแนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกสวมทับ ตั้งแต่คอลงไปถึงเท้า
3. ดูแลเรื่องการหายใจ โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาทางระบบนี้ โดยทั่วไปควรจัดท่านอนให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ เตรียมออกซิเจนไว้ให้พร้อม และใช้เมื่อเห็นว่าจำเป็น คอยดูดเสมหะในปากบ่อยๆ โดยอาจใช้ bulb syringe ในกรณีที่หายใจไม่พอเพียง ควรพิจารณาใส่ endotracheal tube มาด้วย ในระหว่างเดินทาง
4. ป้องกัน aspiration ในรายที่มีลักษณะลำไส้อุดตัน โดยใส่ท่อ nasogastric ดูดน้ำ และเศษอาหาร ออกจากกระเพาะอาหาร อย่างสม่ำเสมอ
5. ควรแจังให้แพทย์ผู้ดูแลรักษาปลายทาง ได้ทราบล่วงหน้า เพื่อจะได้เตรียมบุคลากรและอุปกรณ์ เช่น respirator หรือ incubator ไว้ให้พร้อม เมื่อเด็กมาถึง ในกรณีที่เด็กอาการหนัก แพทย์ควรตามมาด้วย เพื่อช่วยเหลือระหว่างทาง เมื่อถึงปลายทางแล้ว ควรรายงานรายละเอียดของผู้ป่วย แก่แพทย์ผู้รับดูแลต่อ

References
1.

Siegel NJ, Lattanzi WE. Fluid and electrolyte therapy in children. In : Arieff AI, DeFronzo RA, eds. Fluid, electrolyte and acid-base disorders. Churchill Livingstone, 1985 ; 1211-1229.

2.

Smith SD, Rowe MI. Physiology of the patients. In : Ashcraft KW, Hokder TM. Pediatric Surgery. 2nd edition. Philadelphia, WB. Saunders 1993 : 1-18


Copyright (c) Chulalongkorn University