ในการดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาความผิดปกติในจังหวะการเต้นของหัวใจ
นอกจากต้องทราบอายุของผู้ป่วย อาการแสดงทางคลินิก ชนิดและกลไกของการเกิดความผิดปกติในจังหวะการเต้นของหัวใจ
โรคหัวใจพื้นฐาน (underlying heart disease) การทำงานของตับ ไต สภาวะเกลือแร่
(electrolyte) และยาที่ได้รับมาก่อนแล้ว ก่อนให้การรักษามีข้อที่ควรประเมินดังนี้
1. ความรุนแรงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้นอาจไม่ทําให้เกิดอาการคลินิกหรือมีอาการไม่รุนแรง
(benign) เช่น ผู้ป่วยมีอาการใจสั่น หรือเวียนศีรษะเล็กน้อย หรืออาจทำให้เกิดเปลี่ยนแปลงในการไหลเวียนของโลหิตที่รุนแรง
เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นลมหมดสติ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะนั้น มีโอกาสเปลี่ยนแปลงไปเป็นความผิดปกติในจังหวะการเต้นของหัวใจที่รุนแรง
ในภายหลัง เช่น เปลี่ยนเป็น ventricular tachycardia, ventricular fibrillation
เป็นต้น
2. อาการทางคลินิกที่ตรวจพบ
อาการทางคลินิกที่ตรวจพบในผู้ป่วยมีความเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
เช่น ผู้ป่วยมีอาการเป็นลม แต่จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจพบเพียง premature
atrial contraction แสดงว่าอาการที่เกิดขึ้นไม่น่าเกิดจากความผิดปกติ ในจังหวะการเต้นของหัวใจ
3. จุดมุ่งหมายของการรักษา
ในการรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
มีจุดมุ่งหมายอย่างไร เช่น ทําการรักษาเพื่อป้องกันการเสียชีวิต (prevent
death) เช่น ในผู้ป่วยที่มี long QT syndrome จุดมุ่งหมายของการรักษา เพื่อป้องกันการเกิด
ventricular tachycardia ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเกิด sudden death
หรือการรักษานั้น เพื่อรักษาอาการของทางคลินิกที่เกิดขึ้นในผู้ป่วย (releive
symptom) เช่น ในผู้ป่วย supraventricular tachycardia การรักษาทำเพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
และอาการที่เกิดขึ้น
4. แผนการในการรักษา
ในการรักษาผู้ป่วยมีแผนการในการรักษาอย่างไร
การรักษาเพื่อหยุดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เกิดขึ้น จะต้องให้การรักษารวดเร็วเพียงใด
มีวิธีการรักษาอย่างไร และมีความจำเป็นในป้องกันการเกิดซ้ำหรือไม่ มีการพยากรณ์โรคอย่างไร
มีสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่ทําให้เกิดการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือไม่ |