Division Orthorrhapha < Classification
Division Orthorrhapha
แมลงในกลุ่มนี้จะออกจากดักแด้โดยมีรอยแตกของดักแด้เป็นเส้นตรง แมลงในกลุ่มนี้ได้แก่ แมลงจำพวกเหลือบ
Family Tabanidae
แมลงใน family นี้พบได้ทั่วโลก มีการพบแล้วประมาณ 4000 species โดยทั่วไปจะมีชื่อสามัญว่าเหลือบม้า (horse fly) แต่อาจมีการเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น gadflies, stouts, elephant-flies, buffalo-flies, deer-flies(สำหรับ genus Chrysops) และ clegs(สำหรับ genus Haematopota) เป็นต้น แมลงใน family นี้มีหลายชนิดที่ดูดเลือดคน แต่มีไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่คน โรคที่เหลือบนำมาสู่คนแบบ biological transmission คือ Loa loa ซึ่งนำโดย Chrysops เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้มีความใกล้ชิดกับสัตว์มาก จึงสามารถนำโรคจากสัตว์มาสู่คนแบบ mechanical transmission ได้ เช่น anthrax, tularaemia, Lyme disease แมลงในกลุ่มนี้ที่มีความสำคัญทางการแพทย์มีอยู่ 3 genus คือ Tabanus, Chrysops และ Haematopoda
เหลือบมีรูปร่างลักษณะซึ่งแตกต่างจากแมลงวัน โดยมีขนาดตัวใหญ่กว่า (ประมาณ 6-30 ม.ม.) ตัวอาจมีสีน้ำตาล ดำ หรือ เทา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสีอ่อนแก่สลับกัน ส่วนหัวและปากมีขนาดใหญ่ การจำแนกชนิดของเหลือบ อาศัยขนาดและลักษณะของอวัยวะบนหัว (fron หนวด maxillary palps) เป็นหลัก ตัวอ่อนของเหลือบมีลักษณะเรียวยาว สีขาวหรือครีม และมักจะเห็นแถบสีดำรอบตัวตรงบริเวณรอยต่อของแต่ละปล้อง ส่วนหัวยืดหดได้ ส่วนอกมี 3 ปล้อง และส่วนท้องมี 8 ปล้อง โดยปล้องสุดท้ายมีท่อหายใจ (respiratory siphon) ยื่นออกมา ปล้องท้องที่ 1-7 มีขาเทียม (proleg, pseudopod) ยื่นออกมา
รูปที่ 9 แสดงลักษณะของเหลือบตัวเต็มวัย
วงจรชีวิต
เหลือบจะขยายพันธุ์บริเวณดินโคลนหรือที่ชื้นแฉะ ตัวอ่อนอาจพบได้ในน้ำ ดินที่แห้ง หรือรากไม้ ขึ้นอยู่กับชนิดของเหลือบ ตัวอ่อนจะไม้ได้ถึง 6-13 ระยะ ส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าสู่ระยะดักแด้ ซึ่งอาจเป็นหลายๆ เดือนจนถึงหลายปี ดักแด้มีลักษณะคล้ายดักแด้ของผีเสื้อ คือส่วนขาและปีกจะติดเป็นเนื้อเดียวกัน ดักแด้ใช้เวลา 1-3 สัปดาห์จึงเข้าสู่ระยะตัวเต็มวัย
ความสำคัญทางการแพทย์
1. เนื่องจากเหลือบมีขนาดใหญ่เวลาดูดเลือดจะทำให้เจ็บมากและมักก่อให้เกิดความรำคาญ
2. เป็น mechanical transmitter ของ anthrax, tularemia, Lyme disease
3. เป็น biological transmitter ของ Loa loa ซึ่งก่อให้เกิดโรค Loiasis ในอาฟริกากลางและอาฟริกาตะวันตก ซึ่งนำโดย Chrysops โดยมี C. dimidiatus เป็นพาหะที่สำคัญ
การควบคุม
การควบคุมเหลือบค่อนข้างลำบาก การใช้สารฆ่าแมลงเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ไม่ค่อยได้ผล และเนื่องจากตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ จึงมีความเสี่ยงที่สารฆ่าแมลงจะปะปนไปในน้ำ การใช้กับดักเพื่อดักตัวแก่เป็นวิธีที่ดีที่สุด การใช้สารไล่แมลงได้ผลบ้าง
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย