Family Glossinidae < Calypterate < Division Cyclorrhapha < Classification
Family Glossinidae
Tsetse flies
เป็นแมลงวันขนาดกลาง (6-15 ม.ม.) สีน้ำตาลเข้ม ปากเป็นแบบ piercing sucking ชี้ไปด้านหน้า (forwardly projecting proboscis) หนวดมี 3 ปล้อง arista มีขนอยู่ด้านบน เส้นปีกมีลักษณะเหมือนมีดหั่นเนื้อ (Butcher's knife) tsetse fly พบเฉพาะในทวีปแอฟริกา ซึ่งมีพบอยู่ 23 species แมลงวันชนิดนี้ทั้งตัวผู้และตัวเมียดูดเลือดเป็นอาหาร ตัวเมียออกลูกเป็นตัว
รูปที่ 8 แสดงลักษณะของแมลงวัน tsetse ตัวเต็มวัย
วงจรชีวิต
วงจรชีวิตของแมลงวัน tsetse นี้ มีลักษณะเฉพาะซึ่งแตกต่างจากแมลงวันชนิดอื่นโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ หลังจากผสมพันธุ์ ตัวเมียจะเก็บสเปิร์มไว้ในถุงเก็บสเปิร์ม (spermatheca) ตัวเมียจะตกไข่ทีละฟอง ไข่จะผสมกับสเปิร์มที่เก็บไว้ แล้วจะฟักและเจริญเป็นตัวอ่อนในมดลูก โดยตัวอ่อนจะใช้ปากดูดกินอาหารจากผนังมดลูกและ posterior spiracle จะเปลี่ยนแปลงเป็นอวัยวะที่เรียกว่า polypneustic lobe ซึ่งจะโผล่ออกมาจากอวัยวะสืบพันธุ์ของแมลงวันตัวเมีย เพื่อให้ตัวอ่อนได้รับอากาศ เมื่อตัวอ่อนโตเต็มที่จะเข้าระยะดักแด้ ซึ่งไม่ต้องการอาหารอีกต่อไป ตัวเมียจะออกลูกมาเป็นระยะดักแด้นี้ ตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อเจริญเป็นดักแด้ และดักแด้ใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ จึงเจริญเป็นตัวเต็มวัย ตัวเมียออกลูกได้ประมาณ 6-12 ตัว ตลอดวงชีวิตของมัน
ความสำคัญทางการแพทย์
แมลงวัน tsetse เป็นพาหะนำโรค Trypanosomiasis มาสู่คนและสัตว์ ซึ่งโรค African trypanosomiasis หรือ sleeping sickness ในคนนั้น มีแมลงวัน tsetse นำเชื้ออยู่ 2 กลุ่มคือ
1. บริเวณแม่น้ำของแอฟริกาตะวันตกซึ่งมีแมลงวัน tsetse ที่สำคัญคือ Glossina palpalis นำเชื้อ Trypanosoma brucei gambiense
2. บริเวณตะวันออกของทวีปแอฟริกาซึ่งส่วนมากเป็นที่โล่งและมีต้นไม้เล็กๆขึ้นอยู่ มีพาหะที่สำคัญคือ Glossina moristans แมลงวันชนิดนี้ไม่ต้องการความชื้นมากจึงเจริญได้ดีบริเวณฝั่งตะวันออกของทวีป เชื้อที่นำคือ Trypanosoma brucei rhodesiense
อาการทางคลินิคและการวินิจฉัย
African trypanosomiasis จะมี 2 แบบตามชนิดของเชื้อคือ
1. Gambian (Trypanosoma brucei gambiense) ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาการจะเรื้อรัง ค่อยเป็นค่อยไป อาจกินเวลาหลายปี จะมีไข้ต่ำๆ และต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ เมื่อเข้าสู่ระยะ sleeping sickness จะมีอาการที่สำคัญคือ คอแข็ง การรับรู้ลดลง มีอาการง่วงเหงาหาวนอน ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตจากการติดเชื้ออื่นซ้ำ หรือเกิดจาการขาดอาหาร การวินิจฉัยผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ พบเชื้อ Trypanosoma ในต่อมน้ำเหลือง หรือจากน้ำไขสันหลัง หรือการใช้การตรวจทางน้ำเหลืองมาช่วย
2. Rhodesian (Trypanosoma brucei rhodesiense) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีไข้ 1-2 สัปดาห์หลังจากถูกแมลงที่มีเชื้อ Trypanosoma กัด ไข้จะมีลักษณะขึ้นๆลงๆไม่มีลักษณะที่แน่นอน บริเวณที่ถูกกัดจะเป็นแผลที่ไม่เจ็บ อาจมีผื่นขึ้นตามตัว ตับและต่อมน้ำเหลืองโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายจะมีอาการของเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบและเข้าสู่ระยะ coma และเสียชีวิต การวินิจฉัยผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องพบเชื้อ Trypanosoma ในเลือด
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย