Family Calliphoridae < Calypterate < Division Cyclorrhapha < Classification
Family Calliphoridae
เป็นแมลงวันที่เรียกว่าแมลงวันหัวเขียว (blow flies) เนื่องจากส่วนอกและท้องของมันมีสีแวววาวเหมือนผิวโลหะ ซึ่งอาจเป็นสีเขียว สีน้ำเงิน แมลงวันกลุ่มนี้เป็นแมลงวันที่พบมากรองมาจากแมลงวันบ้าน เป็นแมลงวันที่มีขนาดตัวใกล้เคียง หรือใหญ่กว่าแมลงวันบ้านเล็กน้อย ตารวมของแมลงวันกลุ่มนี้มีสีแดงขนาดใหญ่ เห็นได้ชัดเจน arista ฟูแบบขนนก แมลงวันกลุ่มนี้มี 2 subfamily ที่มีความสำคัญทางการแพทย์คือ Calliphorinae และ Chrysomyinae
Subfamily Calliphorinae
แมลงใน subfamily นี้มีลักษณะเส้นปีก I, ii และ iii ไม่มีขน แมลงวันใน subfamily นี้มีทั้งที่เป็น metallic fly คือส่วนลำตัวและอกมีสีแวววาว เช่น Calliphora (blue bottle fly), Lucillia (Green bottle fly) และ non-metallic fly ซึ่งไม่มีสีแวววาว ได้แก่ Auchmeromyia luteola (Congo floor maggot) และ Cordylobia anthropophaga (Tumbo or Mango fly) ซึ่งพบในอาฟริกาเท่านั้น
Metallic Calliphorinae
Calliphora เป็นแมลงวันที่มีลำตัวสีน้ำเงินแวววาว ส่วนหน้ามีสีดำ อกมีขนอยู่ทั่วไปที่ squama มีขนขึ้นจำนวนมาก สำหรับในประเทศไทยพบแมลงวันชนิดนี้เฉพาะในที่สูง ไม่พบในบริเวณพื้นราบ ชอบวางไข่ในอุจาระคน หรือมูลสัตว์ หรือตามกองขยะ
Lucillia เป็นแมลงวันที่สีมีเขียวหรือบรอนซ์แวววาว ส่วนหน้ามีสีขาว ส่วนอกมีขนขึ้นอยู่ทั่วไปแต่ squama ไม่มีขน พบได้ทั้งบนที่สูงและพื้นราบ
ทั้ง Calliphora และ Lucillia เป็นสาเหตุสำคัญของ myiasis ในสัตว์โดยเฉพาะในแกะ

Non-metallic Calliphorinae
Auchmeromyia luteola (Congo floor maggot)
ลักษณะที่สำคัญของแมลงวันชนิดนี้คือ ส่วนท้องปล้องที่ 2 มีขนาดใหญ่มากเมื่อเทียบกับท้องปล้องอื่น และส่วนปลายสุดของท้องเรียวแหลม ตัวเต็มวัยจะตอมอุจจาระหรือผลไม้เน่าเป็นอาหาร ตัวเมียจะวางไข่บนพื้นดินบริเวณบ้าน ไข่จะฟักภายใน 2-3 วัน ตัวอ่อนดูดเลือดคนเป็นอาหาร โดยออกหากินในเวลากลางคืน เนื่องจากตัวอ่อนของแมลงวันชนิดนี้ไม่สามารถไต่ขึ้นลงตามแนวดิ่งได้ ดังนั้นการป้องกันการถูกหนอนแมลงวันขนิดนี้กัด ทำได้โดยนอนบนเตียงที่สูงจากพื้นดินอย่างน้อย 10 ซ.ม. นอกจากคนแล้วยังพบว่าหมูป่าก็สามารถเป็นโฮสท์ของหนอนแมลงวันนี้ด้วย

Cordylobia anthropophaga (Tumbo or Mango fly)
ลักษณะที่ใช้แยกแมลงวันชนิดนี้กับ Auchmeromyia luteola คือท้องปล้องที่ 2 ไม่ได้มีขนาดใหญ่กว่าปล้องอื่น และส่วนหลายสุดของท้องมีลักษณะกลม แมลงวันชนิดนี้ตัวเต็มวัยออกหากินเวลากลางวัน ตัวเมียวางไข่บนพื้นทรายที่มีปัสสาวะและอุจจาระผสมอยู่ ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะฝังตัวอยู่ในทรายรอจนกระทั่งมีโฮสท์ผ่านมา ซึ่งตัวอ่อนแมลงวันนี้จะรับรู้จากแรงสั่นสะเทือนของพื้นดิน ความร้อน และคาร์บอนไดออกไซด์จากตัวโฮสท์ ตัวอ่อนจะเอาส่วนหน้าเข้าสู่อากาศเพื่อค้นหาโฮสท์ และไชเข้าสู่ผิวหนังของโฮสท์ และฝังตัวเจริญเป็นตุ่มบนผิวหนังคล้ายฝีบนตัวโฮสท์ ซึ่งตุ่มดังกล่าวนี้จะมีรูเปิดสู่ภายนอกเพื่อให้มันได้รับอากาศ ตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 8 วันจึงเจริญเป็นระยะ prepupa จะทิ้งตัวลงสู่พื้นแล้วเข้าสู่ระยะดักแด้ โฮสท์ของหนอนแมลงวันชนิดนี้นอกจากคนแล้วได้แก่ สุนัขและหนู
Subfamily Chrysomyinae

Chrysomya (tropical blow-flies, Old World screw worms)
เป็นแมลงวันที่มีสีสด ส่วนอกกว้าง ส่วนใหญ่วางไข่บนซากสัตว์ แต่มีบางชนิดที่วางไข่บนอุจจาระเหลว เช่น C.putoria (Afrotropical) และ C.megacephala (Oriental and eastern Palaearctic) ดังนั้นจึงพบแมลงวัน 2 ชนิดนี้ได้บ่อย บริเวณห้องส้วมที่สร้างไม่ถูกสุขลักษณะ ตัวเต็มวัยดูดกินของเหลวจากอุจจาระและซากสัตว์ C.megacephala เป็นแมลงวันหัวเขียวที่พบมากที่สุดในประเทศไทยโดยพบมากรองมาจากแมลงวันบ้าน อีก species ที่มีเป็นสาเหตุของ myiasis คือ C.bezziana โดยแมลงวันตัวเมียจะวางไข่บนแผลของสัตว ์เมื่อตัวอ่อนฟักออกมาจะไชลงในแผลของสัตว์ แล้วดูดกินเลือดและน้ำเหลือง เนื่องจากแมลงวันตัวเมียหลายๆ ตัวจะมาวางไข่ที่ตำแหน่งเดียวกัน ดังนั้นบาดแผลบางแห่งจึงอาจจะพบหนอนแมลงวันได้นับพันตัว เมื่อตัวอ่อนโตเต็มที่แล้วจะเข้าสู่ระยะ prepupa และเข้าดักแด้ในดิน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 8-10 วัน จึงเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป

รูปที่ 3 แสดงลักษณะของแมลงวันหัวเขียว
Callitroga หรือ Cochliomyia (New World screw worms)
เป็นแมลงวันที่มีสีน้ำเงินปนเขียว พบได้ทั่วไปและเป็นสาเหตุสำคัญของ myiasis ในสัตว์ C.macellaria (screw worm fly) พบในประเทศไทย อินเดีย ฟิลิปปินส์และอาฟริกา ตัวเมียวางไข่บนแผลของสัตว์เลี้ยงทำให้เกิด cutaneous myiasis ในสัตว์และทำให้สัตว์มีสุขภาพทรุดโทรมและตายได้ อีก species หนึ่งคือ C. americana ซึ่งพบในอเมริกาและแคนนาดาเป็นสาเหตุสำคัญของ myiasis ในสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย