การย้อมฟิล์มเลือด (Staining Blood Film)
Wright's stain
Wright's stain มีจำหน่าย 2 รูปแบบ คือ ชนิดที่เป็นของเหลวและชนิดผง ซึ่งแบบหลังนี้ต้องนำมาละลายใน anhydrous acetone-free methyl alcohol ก่อนนำไปใช้
การย้อมฟิล์มเลือดบาง
เนื่องจากใน Wright's stain มี alcohol จีงไม่ต้อง fix สไลด์ ก่อนนำไปย้อม ขั้นตอนการย้อมมีดังนี้
1. นับจำนวนหยดของสีที่ใช้ท่วมฟิล์มเลือดบนสไลด์ ปล่อยทิ้งไว้ 1-3 นาที (ทั้งนี้เวลาที่เหมาะสมในการย้อมขึ้นอยู่กับสีแต่ละรุ่นที่นำมาใช้ )
2. หยด phosphate-buffered ลงบนสไลด์ โดยใช้จำนวนหยดเท่ากับสีที่ใช้ในข้อ 1. ผสมสี และ buffer ให้เข้ากัน โดยการเป่าบริเวณผิวของเหลวเหนือสไลด์
3. หลังจากทิ้งไว้ 4-8 นาที ล้างสีออกจากสไลด์ด้วย phosphate-buffered อย่าเทสีออกจากสไลด์ก่อนล้าง เพราะจะทำให้เกิดตะกอนสีบนสไลด์
4. เช็ดด้านล่างสไลด์ เพื่อเอาสีส่วนเกินออกจากสไลด์
5. วางสไลด์เอียงไว้ให้แห้ง (air dry)
การย้อมฟิล์มเลือดหนา
ฟิล์มเลือดหนาที่ย้อมด้วย Wright's stain มักให้ผลไม่ดีเท่ากับสไลด์ที่ย้อมด้วย Giemsa stain และมีข้อควรระวังอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้เกิดตะกอนสีบนสไลด์ในขั้นตอนสุดท้ายของการล้างสี ก่อนนำไปย้อมจะต้องนำฟิล์มเลือดหนาแช่ในน้ำกลั่น เพื่อให้เม็ดเลือดแดงแตก และล้างเม็ดเลือดแดงออกไป ปล่อยให้แห้ง (air dry) วิธีย้อม ทำเช่นเดียวกับการย้อมฟิล์มเลือดบาง แต่เวลาที่ใช้มักจะนานกว่า ทั้งนี้จะต้องทดสอบโดยการย้อมสีแต่ละรุ่น เพื่อเปรียบเทียบหาเวลาที่เหมาะสมในการย้อม
ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย