การย้อมฟิล์มเลือด (Staining Blood Film)
การตรวจทางห้องปฎิบัติการเพื่อหาเชื้อปรสิตในเลือดโดยการย้อมฟิล์มเลือดนั้น ควรเลือกใช้วิธีที่ได้ทำการทดสอบแล้วว่าให้ผลดี ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลในการวินิจฉัยเชื้อปาราสิตถูกต้องแม่นยำ ดีกว่าทำการย้อมหลายๆ วิธีแ ต่ให้ผลการวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อน ฟิล์มเลือดที่เตรียมเสร็จแล้วควรทำการย้อมโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากการเก็บไว้นานๆ อาจมีผลต่อการติดสีของเชื้อ มีข้อแนะนำว่าไม่ควรเก็บฟิล์มเลือดไว้นานเกิน 4 วัน ก่อนนำไปย้อม (W.H.O,1980) ในกรณีที่เก็บฟิล์มเลือดที่มีเชื้อมาเลเรียไว้นานเกิน 1 เดือน อาจมีผลต่อการวินิจฉัยแยกชนิดของเชื้อมาเลเรีย เพราะลักษณะเฉพาะ (typical characteristic) ของเชื้อ ที่ใช้ในการแยกชนิด อาจติดสีไม่ชัดเจนอย่างที่ควรจะเป็น

สีที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ Wright's stain และ Giemsa stain ใน Wright's stain ประกอบด้วย fixative และสีผสมกันอยู่ ดังนั้นการย้อมฟิล์มเลือดด้วย Wright's stain จะทำการ fix และย้อม ในเวลาเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ก่อนย้อมฟิล์มเลือดหนา จึงต้องทำการล้างเม็ดเลือดออกก่อน โดยแช่ในน้ำกลั่น ส่วนใน Giemsa stain ไม่มี fixative ขั้นตอนการ fix และย้อม แยกกัน การย้อมฟิล์มเลือดบาง จึงต้อง fix ด้วย absolute methanol ก่อนย้อม

ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย