การเตรียมฟิล์มเลือด (Preparation of Blood Film)

ปรสิตบางชนิด เช่น microfilaria และ trypanosomes สามารถตรวจพบได้ในตัวอย่างเลือดสดๆ โดยดูจาก
รูปร่างลักษณะเฉพาะ (characteristic shape) และการเคลื่อนไหว แต่การวินิจฉัยชนิดของปรสิต ต้องอาศัยการย้อมสีและนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งขั้นตอนในการตรวจวินิจฉัย จะต้องทำฟิล์มเลือดบนสไลด์ก่อนนำไปย้อม การเตรียมฟิล์มเลือด มีวิธีทำ 2 แบบคือ ฟิล์มเลือดชนิดหนาและฟิล์มเลือดชนิดบาง
ฟิล์มเลือดชนิดหนา (Thick Blood Film) ใช้เลือดจำนวนมากในการตรวจ จึงเหมาะกับการตรวจในกรณีที่มีเชื้อปรสิตจำนวนน้อยในตัวอย่างเลือด (light infection) อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยชนิดของเชื้อปรสิตจากฟิล์มเลือดหนาเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเชื้อมาเลเรีย เนื่องจากต้องอาศัยประสบการณ์หรือความชำนาญ
ฟิล์มเลือดชนิดบาง (Thin Blood Film) ใช้เลือดน้อยกว่าชนิดหนา จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการตรวจวินิจฉัยจากรูปร่างลักษณะเฉพาะ (morphological characteristics) ของเชื้อปรสิตในเลือด และสามารถดูรูปร่างลักษณะการติดสีของเม็ดเลือดแดงประกอบการวินิจฉัย เนื่องจากเม็ดเลือดแดงเรียงตัวเป็นชั้นเดียว ไม่ซ้อนกันเหมือนในฟิล์มเลือดหนา

การตรวจวินิจฉัยฟิล์มเลือดแบบหนาและบางได้อย่างถูกต้องแม่นยำนั้น ขึ้นอยู่กับ
1. สไลด์ที่ใช้เตรียมฟิล์มเลือดต้องสะอาด ไม่มีคราบไขมัน
2. สไลด์เก่าที่จะนำมาทำฟิล์มเลือดต้องไม่มีรอยขีดข่วน และควรล้างในน้ำยาทำความสะอาด แล้วจึงแช่ใน 70% ethyl alcohol สไลด์ใหม่ก็ควรแช่ในน้ำยาดังกล่าวก่อนนำมาใช้เช่นเดียวกัน

ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย