การตรวจหาระดับคอมพลีเมนท์
การตรวจหาระดับคอมพลีเมนท์ วัดได้โดย 3 วิธีใหญ่ๆ คือ
1. Functional assay
การตรวจ CH50 (50% hemolytic complement activity) เป็นวิธีที่นิยมใช้มากที่สุด หลักการคือ ดูความสามารถของคอมพลีเมนท์ในซีรั่มที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแกะที่มีแอนติบอดีต่อเม็ดเลือดแดงอยู่บนผิว (sensitized sheep erythrocyte) แตกไป 50%
เหตุผลที่ต้องใช้ 50% เป็นเกณฑ์วัด เนื่องจากอัตราการแตกของ sensitized red cells เมื่อเทียบกับความเข้มข้นของคอมพลีเมนท์มีลักษณะเป็นแบบ sigmoidal curve
CH50 เป็น screening test มีความไวและมีประโยชน์มากเพราะสะท้อนถึงคอมพลีเมนท์ทุกตัวในระบบ ถ้าคอมพลีเมนท์ตัวใดตัวหนึ่งต่ำไปก็จะทำให้ CH50 ต่ำได้เสมอ
ข้อเสียเปรียบของการทำ CH50 คือ ค่าของมันอาจต่ำผิดปกติได้ถ้ามี anticomplementary activity ในซีรั่มหรือใน buffer ที่ใช้ หรือ ซีรั่มที่มาทดสอบนั้นไม่สดพอ ดังนั้นการส่งตรวจ CH50 ต้องเจาะเลือดส่งทันที และห้องปฏิบัติการต้องแยกซีรั่มเก็บใน
-70
o
C เสมอ
2. Antigenic assay
เป็นการตรวจหา ความเข้มข้นขององค์ประกอบของคอมพลีเมนท์แต่ละตัว ที่มีใช้คือวิธี laser nephelometry และ radial immunodiffusion (RID)
องค์ประกอบที่มักหาความเข้มข้นกันก็คือ C3, C4, C1q และ factor B เพราะมีความเข้มข้นมากในซีรั่ม จึงวัดหาได้ง่าย และใช้ได้กับซีรั่มที่ไม่ค่อยสดนักได้
บางครั้งคนไข้อาจมีระดับความเข้มข้นขององค์ประกอบคอมพลีเมนท์เป็นปกติ โดยที่คอมพลีเมนท์ตัวนั้นทำงานไม่ได้ ดังนั้นอาจพบค่า CH50 ต่ำ แต่ความเข้มข้นขององค์ประกอบทุกตัวเป็นปกติหมด ในกรณีเช่นนี้เราสามารถหาการทำงานของแต่ละองค์ประกอบได้ เช่น C2H50, C4H50 ดูการทำงานของ C2 และC4 ตามลำดับ
3. Nephelometry assay
ปฏิกิริยาระหว่างแอนติเจนและแอนติบอดีแสดงในสารละลายคือความขุ่นของ
Ag-Ab complex เมื่อถูกกระทบด้วยแสงเลเซอร์จากแหล่งกำเนิดแสงของเครื่อง nephelometer จะสะท้อนแสงและไปตกกระทบกับเครื่องวัดความเข้มแสงในช่วงความยาวคลื่น 840 nm ความแตกต่างของความเข้มของแสงที่เวลาต่างกัน จะถูกเขียนเป็นกราฟ ความสัมพันธ์ของปฏิกิริยาเป็นไปตาม Heidelberger - Kendall curve
ผลที่ได้จะถูกประเมินโดย multipoint Calibration เทียบกับกราฟมาตรฐานที่อยู่ในเครื่อง
กราฟอ้างอิงได้จากการเจือจางสารมาตรฐาน 4-8 dilution (Multipoint calibration) หรือโดยการอ่านค่าอ้างอิงโดยใช้ barcode reader (Single point calibration) เครื่องจะจำกราฟอ้างอิงไว้ใช้งานได้ 7 วัน เมื่อใส่ตัวอย่างคนไข้เข้าไป เครื่องจะอ่านค่าและพิมพ์ผลให้โดยอัตโนมัต
ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย