ลักษณะการไหลของเลือด
การไหลของเลือดภายในหลอดเลือดแบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
4.1 การไหลของเลือดเป็นแนวตรง (Laminar Flow; Streamline Flow)
เกิดขึ้นเมื่อเลือดไหลผ่านหลอดเลือดไปอย่างราบเรียบ เป็นแนวตรงไปตามความยาวของท่อ ใน Poiseuille's law นั้น อาศัยการสมมติว่า โมเลกุลมีการเคลื่อนที่ในแนวขนานซึ่งกันและกันในแนวยาวเป็นชั้นๆ โดยที่โมเลกุลที่อยู่ชั้นนอกสุดอยู่ติดกับผนังหลอดเลือดจะมีการเคลื่อนที่ช้าที่สุด และความเร็วการเคลื่อนที่ของโมเลกุลเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เมื่ออยู่ในชั้นถัดเข้าใป ความเร็วของโมเลกุลจะมากที่สุดที่แกนกลางของลำกระแสเลือดในหลอดเลือด (รูป)
4.2 การไหลแบบกระแสไหลวน (Turbulent Flow; Eddy Current)
เกิดขึ้นเมื่อเลือดไหลไปตามหลอดเลือดด้วยความเร็วสูงมากเกินค่าความเร็ววิกฤต (critical velocity) หรือไหลผ่านตำแหน่งที่มีการอุดกั้นหรือตีบแคบของหลอดเลือด เมื่อมีการเปลี่ยนทิศทางการไหลอย่างกระทันหัน หรือเมื่อมีการไหลผ่านผนังหลอดเลือดที่มีพื้นผิวไม่เรียบ ในกรณีเช่นนี้ ปริมาตรการไหลจะแปรผันตรงกับรากที่สองของค่าความแตกต่างของความดัน การไหลแบบกระแสไหลวนเช่นนี้ทำให้ความต้านทานการไหลเพิ่มขึ้นอย่างมาก (รูป) Reynolds ได้อธิบายปรากฎการณ์นี้ไว้ โดยกล่าวว่า เลือดเป็นของเหลวที่มักเกิดกระแสไหลวนขึ้นหากมีค่า Reynolds ratio (Re) สูงเกิน1,000 ซึ่ง
Re = r n D / h
โดย r = ความหนาแน่นของของเหลว (density) มีหน่วยเป็น กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร
n = ความเร็วเฉลี่ย มีหน่วยเป็น เซนติเมตร/วินาที
D = เส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดเลือด มีหน่วยเป็นเซนติเมตร
h = ความหนืดของของเหลว มีหน่วยเป็น กรัม/วินาที/เซนติเมตร2

เนื่องจากความหนาแน่นของเลือดมีค่าค่อนข้างคงที่ ดังนั้นปัจจัยที่มักจะทำให้ค่าตัวเลขของ Reynolds เพิ่มขึ้นและทำให้ค่า Re สูงเกินค่าที่กำหนด และมีผลให้เลือดมีการเกิดกระแสไหลวน ได้แก่ การเพิ่มความเร็วของการไหลของเลือด ดังที่พบได้ในหลอดเลือดขนาดใหญ่ การลดลงของความหนืด เช่น มีภาวะเลือดจาง และรัศมีของท่อหรือหลอดเลือดมีขนาดลดลง เช่น ที่พบในภาวะตีบ (stenosis) ของลิ้นหัวใจ หรือมี coarctation of aorta

การที่เลือดมีลักษณะการไหลที่แตกต่างกันได้ในหลอดเลือดก่อให้เกิดผลดีที่นำมาใช้ในทางคลินิก กล่าวคือ การไหลในแนวตรงไม่ก่อให้เกิดเสียง ในขณะที่การไหลแบบกระแสไหลวนในหลอดเลือดก่อให้เกิดเสียงที่สามารถได้ยินได้อย่างชัดเจนเมื่อใช้อุปกรณ์ช่วยฟัง ที่เรียก stethoscope ประโยชน์จากเสียงที่เกิดขึ้นนี้สามารถนำมาใช้ในการวัดความดันเลือดโดยทางอ้อมด้วย sphygmomanometerได้ นอกจากนี้เสียงที่เกิดขึ้นในบางตำแหน่งของระบบไหลเวียนสามารถบอกถึงพยาธิสภาพได้ เช่น ความผิดปกติของลิ้นหัวใจและมีการตีบของช่องทางการไหลของเลือดส่งผลให้เกิดเสียงผิดปกติที่สามารถได้ยินได้