ไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B virus-HBV)

ไวรัสตับอักเสบบี เป็นไวรัสที่สามารถติดต่อได้จากอุบัติเหตุจากการปฏิบัติงาน ของบุคลากรทางสาธารณสุข โดยสามารถติดต่อได้ง่ายกว่าไวรัสเอดส์ถึง 100 เท่าโดยประมาณ บุคลากรที่ปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้ป่วย จึงควรทราบสถานภาพการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวของตนเอง และรับการฉีดวัคซีนป้องกันหากยังไม่ติดเชื้อ การตรวจทางปฏิกริยาน้ำเหลืองสำหรับไวรัสตับอักเสบบี มีอยู่หลายชนิด ทั้งการตรวจหาผลิตภัณฑ์โปรตีนของไวรัส และแอนติบอดีที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้นตอบสนองต่อการติดเชื้อ แบ่งออกได้ดังนี้
1. hepatitis B surface antigen (HBsAg) และแอนติบอดีต่อ HBsAg (anti-HBs)
การตรวจพบ HBsAgในเลือด เป็นตัวบ่งชี้การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ที่ตรวจพบได้ตั้งแต่ 3-5 สัปดาห์ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีอาการ (รูปที่ 1) ในผู้ป่วยที่มีอาการตับอักเสบเฉียบพลันและหายจากโรคนั้น ไม่ควรตรวจพบ HBsAg อยู่นานเกินหกเดือนหลังจากหายจากอาการแล้ว และหลังจากตรวจไม่พบ HBsAg แล้วระยะหนึ่ง (เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน) ควรจะตรวจพบ anti-HBs ต่อมา
รูปที่ 1 การตรวจพบโปรตีนและแอนติบอดีชนิดต่างๆ
ในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบบี
anti-HBs เป็นตัวแทน (surrogate marker) ที่บอกว่าผู้ป่วยรายนั้นมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี กล่าวคือ หากไม่เกิดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องขึ้นในอนาคต ไม่ควรจะเกิดอาการตับอักเสบรุน-แรงจากไวรัสตัวนี้อีก และไม่ควรจะเกิดปัญหาตับอักเสบเรื้อรัง หรือผลพวงแทรกซ้อนอื่นๆ (ตับ-แข็ง-cirrhosis และมะเร็งในตับ-hepatocellular carcinoma) ของการติดเชื้อไวรัสตัวนี้, anti-HBs สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้ครบ 3 เข็มแล้วเป็นเวลา 1 เดือน ควรได้รับการตรวจ anti-HBs ดังกล่าว เพื่อเป็นการยืนยันการตอบสนองต่อวัคซีน เนื่องจากประมาณ 10% ของคนปกติ อาจไม่ตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนในชุดแรก (nonresponder) แต่บุคคลเหล่านี้ มีโอกาสตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนชุดที่สองได้ 30-50% การตรวจยืนยันการตอบสนองต่อวัคซีนดังกล่าว จะมีประโยชน์เมื่อเกิดอุบัติเหตุสัมผัสเชื้อจากการปฏิบัติงานในภายหลัง ระดับของ anti-HBs ที่ถือว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ คือมากกว่า 10 mIU/ml (milli-international unit per milliliter)
2. anti-HBc
เป็นแอนติบอดีต่อ core antigen (HbcAg) ของไวรัส ซึ่งจะตรวจพบได้หลังจากเริ่มมีอาการของตับอักเสบเฉียบพลันได้ไม่นาน โดย anti-HBc-IgM จะตรวจพบได้อยู่นานไม่กี่เดือนก็จะลดระดับต่ำจนวัดไม่ได้ แต่ total anti-HBc มักจะยังตรวจวัดได้อยู่ตลอดไป การตรวจหา anti-HBc จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวแทน ที่บอกถึงการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งต้องแปลความหมายของผลบวกร่วมกับผลการตรวจอื่นๆ
ในกรณีที่ anti-HBc ได้ผลบวก โดยที่ HBsAg และ anti-HBs ได้ผลลบทั้งคู่ (isolated positive anti-HBc) อาจเป็นผลบวกลวง (false positive) หรือเป็นผู้ที่มีการติดเชื้อเรื้อรัง ที่มีระดับของ HBsAg ในเลือดต่ำจนตรวจวัดไม่ได้ หรือเป็นกรณีที่เพิ่งหายจากตับอักเสบเฉียบพลัน ซึ่ง HBsAg ตรวจวัดไม่ได้แล้ว แต่เป็นช่วงที่ anti-HBs ยังไม่ได้ผลบวกก็เป็นได้ สำหรับ anti-HBc-IgM นั้น นอกจากจะพบได้ในผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันจากไวรัสตับอักเสบบีแล้ว ยังอาจตรวจพบได้ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังและผู้เป็นพาหะของเชื้อในบางราย ฉะนั้น ประโยชน์ในการช่วยวินิจฉัย สำหรับผู้ป่วยที่มาด้วยอาการตับอักเสบเฉียบพลันคือ หากตรวจพบ HBsAg ในผู้ป่วยรายนั้น แต่ anti-HBc-IgM ได้ผลเป็นลบอยู่ตลอดระยะเวลาที่เจ็บป่วย แปลว่าผู้ป่วยรายนั้น ควรจะเกิดอาการตับอักเสบเฉียบพลันจากสาเหตุอื่น
3. hepatitis B e antigen (HBeAg) และ anti-HBe HBeAg
มักจะตรวจพบได้ในเลือดในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจพบ HBsAg การตรวจพบ HBeAg ในเลือดมักจะหมายถึงว่า ไวรัสมีการแบ่งตัวในตับ สำหรับผู้ป่วยตับอักเสบเฉียบพลันนั้น จะตรวจพบ HBeAg อยู่ได้หลายสัปดาห์ ก่อนที่จะหายไป และตรวจพบ anti-Hbe ขึ้นมาแทน ส่วนในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังนั้น จะตรวจพบ HBeAg ได้เป็นเดือนและอาจนานเป็นหลายๆ ปีได้ ซึ่งบอกถึงว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวในเซลล์ตับ และเมื่อ HBeAg หายไปและตรวจพบ anti-HBe ขึ้นมาแทน ในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรัง มักจะไปด้วยกันกับพยาธิสภาพในตับที่ดีขึ้น