ไวรัสเอดส์

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยการติดเชื้อเอดส์ในปัจจุบัน มีดังนี้
1. การตรวจหาแอนติบอดี
ซึ่งมีหลายวิธี เช่น
1.1 ELISA หรือ EIA (enzyme-linked immunosorbent assay หรือ enzyme immunoassay) ซึ่งมีชุดตรวจสำเร็จรูปอยู่หลายบริษัท
1.2 immunochromatographic test หรือที่มักเรียกว่า rapid test เนื่องจากได้ผลเร็วในเวลาเป็นนาที
1.3 Gel particle agglutination (GPA)
1.4 Immunoblot หรือ Western Blot assay มักจะใช้เป็นวิธีการตรวจยืนยัน สำหรับกรณีที่การตรวจแอนติบอดีวิธีอื่น ได้ผลการตรวจที่ไม่ชัดเจน วิธีนี้ทำได้ในโรงพยาบาลบางแห่ง และค่าใช้จ่ายสูงกว่าวิธีอื่นๆ
โดยทั่วไปแล้ว การตรวจหาแอนติบอดี มักจะได้ผลบวกหลังจากผู้ป่วยได้รับเชื้อไวรัสเอดส์มาแล้วตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป โดยช่วงเวลาที่ติดเชื้อแล้ว แต่แอนติบอดียังได้ผลลบ (window period) ดังกล่าวนี้ อาจแตกต่างได้ในผู้ป่วยแต่ละราย ในผู้ป่วยบางรายอาจยาวนานถึง 6 เดือนได้ (แต่พบได้น้อยมาก) จึงต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงอันนี้ด้วย ในการแปลผลการตรวจ
ปัญหาของการใช้แอนติบอดีตรวจวินิจฉัยโรคเอดส์คือ มีบางกรณี ที่การตรวจได้ผลลบลวง (false negative) ซึ่งอาจเกิดจากการตรวจยังอยู่ใน window period ดังกล่าว หรือในบางรายที่การติดเชื้ออยู่ในระยะสุดท้าย การตรวจแอนติบอดีอาจกลับให้ผลลบอีกครั้งได้ (seroreversion) ซึ่งพบได้น้อย ในกรณีดังกล่าว หากสงสัยการติดเชื้อเอดส์จากอาการทางคลินิก อาจพิจารณาตรวจแอนติบอดีโดยใช้วิธีอื่น โดยการตรวจทันทีหรือรอเวลาให้พ้น window period แล้วแต่กรณี หรือใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่น ในกรณีที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิจารณาว่าสมควรเป็นรายๆ ไป
ส่วนในกรณีตรงกันข้าม การตรวจแอนติบอดี อาจให้ผลบวกลวง (false positive) ได้เช่นกัน ซึ่งอาจพบได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วย systemic lupus erythematosus (SLE) ผู้ป่วยมะเร็งบางราย เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) ผู้ป่วยโรคติดเชื้อบางชนิด เช่น มาเลเรียหรือไข้เลือดออก หรือแม้แต่ผู้ที่ไม่มีโรคบางราย อาจผลิตโปรตีนหรือแอนติบอดีบางชนิด ที่สามารถทำปฏิกริยากับชุดตรวจสำเร็จรูปบางบริษัท อ่านได้ผลบวกได้ ซึ่งถึงแม้ส่วนใหญ่แล้ว จะพบว่าผลบวกอ่อนกว่าผลบวกจริงในผู้ป่วยติดเชื้อเอดส์อย่างมากก็ตาม ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาในการแปลผลได้ อีกกรณีหนึ่ง ซึ่งพบได้อยู่ประปราย คือความผิดพลาดที่ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ในกระบวนการจัดเก็บ ส่งตรง และตรวจทางห้องปฏิบัติการ (clerical error) ทำให้เกิดการรายงานผลผิดราย จากปัญหาการเกิดผลบวกลวงได้ในหลายๆ กรณีดังกล่าว ในอดีตมีการใช้การตรวจ immunoblot (Western Blot) มาใช้ช่วยยืนยัน แต่เนื่องจากการตรวจดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง มีบริการเฉพาะในโรงพยาบาลบางแห่ง และผลที่ได้ก็ยังอาจเป็นผลที่ยังสรุปไม่ได้ (indeterminate) ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อจริงบางราย ดังนั้น สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำวิธีการตรวจแอนติบอดีร่วมกัน 2-3 วิธี เพื่อตรวจยืนยันผลบวกกันเอง เป็นวิธีที่เหมาะสมในทางปฏิบัติ
2. การตรวจหา p24 antigen
ในช่วงหลังการรับเชื้อ 3 สัปดาห์แรก ที่การตรวจแอนติบอดีอาจยังให้ผลลบดังกล่าว (window period) พบว่าประมาณสัปดาห์ที่สาม อาจตรวจพบ p24 antigen (p24 Ag) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์โปรตีนของไวรัสเอดส์ได้ในเลือดผู้ป่วยส่วนใหญ่ ทำให้ window period ดังกล่าวย่นระยะลงหนึ่งสัปดาห์โดยประมาณ มักนิยมใช้ในการตรวจกรองเลือด ในการรับบริจาคโลหิต หรือใช้ตรวจในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเอดส์ ที่มีอาการไข้เฉียบพลัน บวกกับกลุ่มอาการร่วมอื่นๆ ที่แพทย์ผู้ดูแลสงสัยว่าอาจเป็นกลุ่มอาการจากการติดเชื้อ ไวรัสเอดส์เฉียบพลัน (acute HIV infection หรือ acute retroviral syndrome)
3. การตรวจหาเชื้อไวรัสในเลือด
โดยการตรวจที่เรียกว่า polymerase chain reaction (PCR) มักพิจารณาใช้ ในกรณีที่ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเอดส์ มีกลุ่มอาการทางคลินิก ที่แพทย์ผู้ดูแลสงสัยว่าอาจเป็นจากการติดเชื้อไวรัสเอดส์เฉียบพลัน นอกจากการติดตามตรวจแอนติบอดีที่ 3-6 สัปดาห์ต่อมาแล้ว การพิจารณาตรวจ p24 Ag หรือการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR เป็นทางเลือกที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณาเป็นกรณีไป การตรวจหาไวรัสเอดส์ในเลือด ด้วยวิธี PCR จะย่นระยะ window period ลงได้อีกประมาณ 4-5 วัน เมื่อเทียบกับการตรวจหา p24 Ag อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณสองสัปดาห์แรกหลังได้รับเชื้อ ซึ่งไวรัสอาจแบ่งตัวอยู่ตามเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่อยู่ตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ยังเป็นช่วงที่ไม่สามารถตรวจวินิจฉัยการติดเชื้อเอดส์ได้ ด้วยวิธีการต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว (eclipse period)