การวินิจฉัยทางน้ำเหลือง

สำหรับ EBV การตรวจทางน้ำเหลือง แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. heterophile antibody เป็นวิธีการตรวจที่ใช้มานาน และยังมีประโยชน์ จะได้ผลบวกในรายที่เป็น mononucleosis จาก EBV ในขณะที่ผู้ป่วย mononucleosis จากสาเหตุอื่น เช่น CMV, toxoplasmosis, primary HIV infection (acute retroviral syndrome), human herpes virus 6, etc. จะได้ผลลบ ถึงแม้ว่าจะมีรายงานผู้ป่วย primary HIV infection ที่ตรวจพบ heterophile Ab ก็ตาม(16) ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วย EBV mononucleosis บางราย ก็อาจให้ผล heterophile Ab เป็นลบได้ อันที่จริงแล้วผู้ป่วย heterophile-negative mononucleosis มีสาเหตุมาจาก EBV และ CMV ได้บ่อยพอๆ กัน(17) (ประมาณเชื้อละ 40% ของผู้ป่วย heterophile-negative mononucleosis ทั้งหมด) สำหรับในผู้ป่วย EBV-associated mononucleosis หากตรวจ heterophile antibody ในอาทิตย์ที่สองของโรคจะพบผลบวกเพียง 20-30% ในขณะที่ผลบวกจะสูงถึง 80% หากตรวจในอาทิตย์ที่สี่ heterophile antibody titer สูง ที่ถูก absorb ได้ด้วย ox red blood cell แต่ไม่ถูก absorb ด้วย guinea pig kidney เป็นลักษณะที่พบใน infectious mononucleosis จาก EBV ในขณะที่ผู้ป่วย serum sickness จะมี heterophile antibody ที่ถูก absorb โดยทั้ง ox rbc และ guinea pig kidney ในปัจจุบัน นิยมทำ heterophile Ab โดยใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป เช่น monospot test เป็นต้น

2. EBV-specific antibody ในปัจจุบัน นิยมใช้ชุดตรวจสำเร็จรูป (commercial kit) ในการตรวจหาแอนติบอดีย์ต่อ EBV antigen ชนิดต่างๆ กัน สำหรับใน primary EBV infection ความสัมพันธ์ระหว่างระดับการขึ้นลงของแอนติบอดีย์ชนิดต่างๆ กับระยะเวลาการติดเชื้อ มีดังกราฟข้างล่าง


รูปที่ 1 ระดับของแอนติบอดีย์ต่อ EBV antigen ชนิดต่างๆ
หลังจากการติดเชื้อที่ระยะเวลาต่างๆ กัน(18)

ชุดการตรวจที่มีใช้ในประเทศไทย จะเป็น anti-VCA IgM และ IgG (viral capsid antigen) หรือบางแห่งใช้ชุดตรวจสำเร็จรูปที่รายงานเป็น anti-EBV IgM และ IgG ซึ่งมี VCA เป็นแอนติเจนสำคัญที่ตรวจหา และแปลผลคล้ายคลึงกันกับ anti-VCA ส่วน anti-EBNA จะมีบริการเฉพาะในโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลใหญ่ๆ บางแห่ง จะขอกล่าวถึงการใช้และการแปลผลการตรวจดังกล่าวพอสังเขป

จากกราฟ จะเห็นได้ว่า anti-VCA IgM และ IgG จะตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรกๆ ของโรค ระดับของ IgM มักจะลดลงจนตรวจวัดไม่ได้ภายในไม่กี่เดือน แต่ IgG จะได้ผลบวกตลอดไป สำหรับ anti-EBNA จะตรวจวัดได้เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อมาแล้วนานกว่าหนึ่งเดือน และคงระดับที่ตรวจวัดได้ตลอดไปเช่นกัน ประโยชน์ที่นำมาใช้ทางคลินิกคือ
1. ในผู้ป่วยที่สงสัย primary EBV infection เช่น ผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับ mononucleosis syndrome การตรวจพบ anti-VCA IgM และ IgG (หรือ anti-EBV IgM และ IgG) ได้ผลบวก อาจเพียงพอ ในรายที่มีอาการและอาการแสดงที่ชัดเจนของกลุ่มอาการนี้ ซึ่งเข้ากับหลักการที่ว่า หาก pretest probability มีมากอยู่แล้ว (คือลักษณะผู้ป่วย มีโอกาสจะเป็นโรคที่เราสงสัยค่อนข้างสูงอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ) โอกาสที่การแปลผลว่าผู้ป่วยเป็น acute primary EBV infection ก็คงจะถูกต้อง แต่ในอีกทางหนึ่ง หากผู้ป่วยมาด้วยอาการและอาการแสดงที่ไม่ชัดเจน แต่แพทย์ผู้ดูแลคิดว่า acute EBV infection รวมอยู่ในการวินิจฉัยแยกโรคของผู้ป่วยรายนั้น การตรวจเพียง anti-VCA IgM และ IgG ยังไม่เพียงพอ เพราะผู้ป่วยที่ติดเชื้อมานานแล้ว (ดังที่กล่าวแล้ว เมื่อติดเชื้อแล้ว EBV จะคงอยู่ในร่างกายตลอดไป) สามารถมี reactivation ของ anti-VCA IgM ได้เป็นระยะๆ(5) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีภาวะเจ็บป่วยเกิดขึ้น โดยพบได้บ่อยในการติดเชื้อกลุ่มเฮอร์ปีส์ตัวอื่นบางตัว เช่น CMV(6) หรือ HHV-6 เป็นต้น ดังนั้น การตรวจพบว่า anti-EBNA ได้ผลลบร่วมด้วย จะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัย primary EBV infection ได้ดีขึ้น ลักษณะการตรวจพบแอนติบอดีย์ดังในกราฟ พบได้ในผู้ป่วย acute primary EBV infection ส่วนใหญ่ แต่พบข้อยกเว้นได้ เช่น ผู้ป่วยบางรายหลังจาก EBV infection แล้ว มี anti-EBNA ขึ้นช้ามากถึงหนึ่งปีหลังการติดเชื้อ หรือบางรายไม่เคยได้ผลบวกเลย ผู้ป่วยบางรายเคยมี anti-EBNA แล้ว ต่อมาระดับแอนติบอดีย์อาจต่ำลงจนวัดไม่ได้ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกลายเป็นผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น หลังปลูกถ่ายอวัยวะและได้ยากดภูมิคุ้มกัน ฉะนั้น ในผู้ป่วยดังกล่าว หากไม่มีข้อมูลของ EBV antibodies ก่อนทำการปลูกถ่ายอวัยวะ เมื่อเกิดความเจ็บป่วยหลังปลูกถ่ายอวัยวะ ที่สงสัยว่าอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ EBV แล้วมาตรวจพบ anti-VCA IgM และ IgG ได้ผลบวก โดยที่ anti-EBNA ได้ผลลบ จะไม่สามารถแปลผลได้ว่า เป็น primary หรือ reactivated EBV infection การตรวจที่อาจจะพอช่วยบอกได้ คือการดู EBV-specific IgG avidity ซึ่งการตรวจยังไม่ได้นำมาใช้แพร่หลายทั่วไป(19)
2. การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ EBV ที่ผู้ป่วยไม่ได้มาด้วยกลุ่มอาการแม่แบบ (infectious mononucleosis) นั้น การตรวจดูปฏิกริยาน้ำเหลือง ใช้เป็นเพียงส่วนประกอบในการวินิจฉัยเท่านั้น เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังกล่าวแล้ว คือ ปัญหาในการแปลผล ซึ่งอาจไม่ตรงไปตรงมาในหลายๆ กรณี, anti-VCA IgM ไม่ได้เป็นตัวแทนของ acute EBV infection แต่ได้ผลบวกจาก endogenous reactivation ของเชื้อได้(5) นอกจากนี้ ใน EBV-related syndrome บางอย่าง เช่น chronic active EBV infection แม้ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรังอยู่นาน ก็มักจะพบว่า anti-EBNA ได้ผลลบอยู่บ่อยครั้ง(11, 20) แต่ anti-VCA IgG มักจะได้ผลบวก ใน titer ที่สูงมาก(11) ดังนั้น การวินิจฉัยโรคติดเชื้อ EBV อื่นๆ นอกเหนือจาก classical disease คือ infectious mononucleosis มักจะมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยวิธีการทางชีวโมเลกุลมาช่วย เช่น การตรวจหา viral load ในเลือด (ซีรั่ม/พลาสมา หรือใน peripheral blood mononuclear cell) หรือการตรวจชิ้นเนื้อหาไวรัสหรือผลิตภัณฑ์ของไวรัส (เช่น EBV-encoded RNA (EBER) หรือโปรตีนของไวรัส เช่น latent membrane protein 1 (LMP1) ) เป็นต้น