บทสรุป
          ตะกั่วจัดเป็นโลหะหนักที่มีอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากมีการนำตะกั่วมาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมหลายชนิด โดยเฉพาะการผลิตหมึกพิมพ์ การผลิตสีหลายประเภท การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ใช้เป็นส่วนผสมของยาฆ่าแมลง ในสีย้อมผม เป็นต้น ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัญหาตะกั่วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมลดลง เพราะเลิกใช้ตะกั่วเป็นสารกันนอกผสมในน้ำมันเบนซีน อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาการได้รับตะกั่วจากสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำที่ก่อให้เกิดพิษเรื้อรัง (chronic low exposure level of lead) อยู่รวมทั้งการได้รับพิษตะกั่วในเด็กที่ขาดการดูแลอย่างดีจาก
ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ที่ประกอบอาชีพ ในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการใช้ตะกั่ว
          ในคนตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางใหญ่ คือ ทางปาก ทางลมหายใจ และทางผิวหนัง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด แตกต่างกันตามชนิดของสารประกอบตะกั่ว ตะกั่วอินทรีย์จะละลายไขมันทำให้ดูดซึมผ่านผิวหนังได้ดี ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์จับกับหมู่ไทออล หรือซัลไฮดริลของโปรตีนหรือเอนไซม์ เกิดความเสียหายต่ออวัยวะเป้าหมายและขับออกนอกร่างกายช้ากว่าตะกั่วอนินทรีย์ และเกิดเป็นพิษต่อระบบประสาทมากกว่าไต ขณะที่ตะกั่วอนินทรีย์จะถูกดูดซึมและ
ขับออกนอกร่างกายเร็วจึงเป็นพิษต่อไตมากกว่าสมอง
          ตะกั่วส่วนใหญ่จะพบในกระดูก และสะสมอยู่นานมากกว่า 20 ปี ที่เหลือพบสะสมในตับ สมองและไตซึ่งเปลี่ยนแปลงไม่สะสมนาน ในเลือดส่วนใหญ่จะพบว่าตะกั่วจะจับอยู่ในเม็ดเลือดแดง ส่วนที่เหลือจะอยู่ในพลาสมา ความเป็นพิษของตะกั่วที่พบคือ ตะกั่วจะมีผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายและอายุสั้น โดยมีผลต่อการสร้างฮีมที่เป็นส่วนประกอบของฮีโมโกลบินโดยยับยั้งเอนไซม์ที่ใช้ในกระบวนการสร้างฮีมหลายขั้นตอน เนื่องจากฮีมเป็นสารพอร์พัยรินที่สังเคราะห์ขึ้นจากสารต้นกำเนิด 2 ชนิด คือ กรดอะมิโน ไกลซีน และ ซักซินิลโคเอ ดังนั้นพิษของตะกั่วทำให้เกิดโรคโลหิตจาง และภาวะพอร์พัยเรีย (พบการสะสมของสารตัวกลางของการสร้างฮีมเป็นพอร์พัยรินชนิดต่างๆ ในเนื้อเยื่อและปัสสาวะ) ตะกั่วมีผลต่อการทำงานของไต ทำให้มีการทำลายของเซลล์บุท่อไตและถ้ามีระดับตะกั่วในเลือดสูงมากจะทำให้เกิดมะเร็งที่ไตหรือไตวายได้ ตะกั่วยังมีผลต่อสมอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับของ monoamine transmitter และเพิ่มเมตาบอไลท์
ทั้ง HVA และ VMA ในปัสสาวะ ทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง และส่วนปลายโดยพิษของตะกั่วต่อสมองในเด็กจะรุนแรงกว่าในผู้ใหญ่ เป็นต้น