ความสัมพันธ์ของระดับตะกั่วกับสุขภาพของร่างกาย
          ในต่างประเทศเช่น ในประเทศอังกฤษจะมีองค์กรเรียก Health and Safety executive (HSF) ที่จะเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดภาวะ lead poisoning ของแรงงาน ในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการใช้ตะกั่ว ได้แก่ โรงงานแบตเตอรี โรงงานหลอมตะกั่ว โรงงานทำสีต่าง ๆ และโรงงานกลั่นน้ำมัน เป็นต้น รวมทั้งมีการวัดปริมาณของตะกั่วในเลือด (B-Pb) ปัสสาวะ (U-Pb) ผม และในอากาศ (Air-Pb) เพื่อประเมินอันตรายของตะกั่วต่อสุขภาพของคนงาน เป็นที่ยอมรับว่า B-Pb เป็นตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดของผู้ที่ได้รับตะกั่ว (exposed individuals) ทั้งในแง่ของปริมาณที่ได้รับและการเกิดพิษจากสารตะกั่ว เนื่องจากการวัดตะกั่วในเนื้อเยื่อทำได้ยาก นอกจากนี้ค่า B-Pb ยังสัมพันธ์กับค่า Air-Pb พบว่า ถ้ามี Air-Pb เพิ่มขึ้น B Pb จะเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อใดก็ตามถ้าตรวจพบค่า B-Pb และ U-Pb ในผู้ป่วยสูงผิดปกติ สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ป่วยต้องได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายเมื่อไม่นานมานี้และได้รับแบบเฉียบพลันด้วย กรณีที่ตรวจพบค่าผิดปกติในผมจะเป็นตัวบ่งชี้ของการสัมผัสตะกั่วในระยะเวลายาวนานหรือเรื้อรัง
          ในอดีตตะกั่วเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมในเมืองใหญ่ที่มีการจราจรคับคั่ง เนื่องจากสารตะกั่วเป็น additive ที่เพิ่มค่าออกเทนในน้ำมันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด (ในรูปของ tetraethyl lead, TEL) มีคุณสมบัติเป็นสาร antiknock ซึ่งเมื่อเผาไหม้ในเครื่องยนต์แล้วจะออกมาในรูปของ lead bromide chloride จากนั้นจะถูกเปลี่ยนสภาพในอากาศเป็น lead carbonate และ lead oxide ที่เป็นฝุ่นขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.4 ไมครอน แพร่กระจายไปในอากาศ ทำให้พบสารตะกั่วในอากาศในเมืองใหญ่มากกว่าในชนบท เมื่อมีการผลิตน้ำมันเบนซีนที่ไม่มีสารตะกั่ว (unleaded) โดยใช้สาร methyl tertiary butyl ether (MTBE) เพิ่มค่าออกเทนแทน ทำให้ปัญหาของความเป็นพิษลดลงเล็กน้อย
          การที่มีการผลิตน้ำมันที่มีสารตะกั่วลดลงในบางประเทศ หรือเลิกการใช้สารตะกั่วในการผลิตน้ำมัน เช่นประเทศสหรัฐอเมริกาที่ประกาศให้น้ำมันเบนซีนไม่มีสารตะกั่วก่อนปี ค.ศ. 1977 มีผลทำให้พบว่าระดับเฉลี่ยของตะกั่วในเลือดของประชากรปกติ อายุตั้งแต่ 1-74 ปี ลดจาก 12.8 เป็น 2.8 mg/dl ในปี ค.ศ. 1988-1991 อัตราการเกิดพิษจากตะกั่วลดลง แสดงว่าระดับตะกั่วในอากาศลดลง สำหรับในประเทศไทยในปี ค.ศ. 1996 ได้ประกาศเลิกใช้น้ำมันเบนซีน ที่มีสารตะกั่ว และจากรายงานการวิจัยเมื่อเร็วๆ นี้ คือในปี ค.ศ. 1999 พบว่าค่าเฉลี่ยของตะกั่วในเลือดของเด็ก 1,000 คน ที่จังหวัดเชียงใหม่พบว่ามีค่าลดลงเช่นเดียวกันคือ มีค่าเฉลี่ยของตะกั่วในเลือดเป็น 4.2 mg/dl และมีเพียงร้อยละ 4.6 ที่มีตะกั่วในเลือดมากกว่า 10 mg/dl ซึ่งเป็นค่าที่เริ่มเกิดพิษของตะกั่ว รวมทั้งรายงานค่าเฉลี่ยของตะกั่วในเลือดของเด็กและตำรวจจราจรในกรุงเทพฯ ที่ลดลงมากในปัจจุบัน (หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 22 พ.ค. 2545 ) เหลือเพียง 5 mg/dl ทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อเทียบกับที่เคยรายงานในเด็กในปี ค.ศ. 1993 มีค่า 8 mg% และในจราจรในปี ค.ศ. 1991 มีค่า 22 mg%
          ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกกำหนดค่ามาตรฐานของ B-Pb ในผู้ใหญ่ 100-250 mg/L ในเด็ก <90 mg/L หรือ 9 mg % ในคนงานอุตสาหกรรมที่สัมผัสตะกั่วต้องไม่เกิน 400 mg/L และถ้ามีค่าเกิน 600 mg/L ต้องย้ายหน้าที่ และค่าเฉลี่ย B-Pb ในคนไทยปกติที่ศึกษาโดย พ.ญ.อุบลรัตน์ และคณะ พ.ศ. 2523 เป็น 156 mg/L และ U-Pb เฉลี่ย 102 mg/L
          ในทางการแพทย์จะใช้ระดับ B-Pb เป็นตัวบ่งชี้ถึงความเสี่ยงการได้รับพิษจากตะกั่วและผลกระทบอันตรายที่จะเกิดต่อเนื้อเยื่อหรือเซลล์เป้าหมาย รวมทั้งกระบวนการทางชีวเคมีต่าง ๆ ในร่างกายที่เกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะเอนไซม์หลายชนิด เยื่อหุ้มเซลล์และออร์แกเนลล์ในเซลล์ที่ตะกั่วจะเข้าไปจับ ดังนี้การตรวจวัด B-Pb, U-Pb และ biochemical parameters หลายชนิดที่เกิดจากพิษตะกั่วจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัย การตรวจกรอง การป้องกัน และการรักษาผู้ป่วยภาวะตะกั่วเป็นพิษได้ ดังได้แสดงใน ตารางที่1 ที่มีการใช้ B-Pb ประเมินอันตรายต่อสุขภาพโดยตะกั่วจะมีผลต่อความผิดปกติของระบบเลือด ระบบประสาท ไต และระบบอื่น ความผิดปกติของ parameters ต่าง ๆ ยังสัมพันธ์กับระดับของ B-Pb ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าระดับ B-Pb เพียง 100 mg/L ก็มีผลต่อระดับเอนไซม์ aminolevulinic acid (ALAD) ที่ใช้ในการสร้างฮีมแล้ว

ตารางที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ของระดับตะกั่วกับผลกระทบต่อสุขภาพ
          นอกจากนี้เด็กยังมีอัตราการดูดซึมของตะกั่วผ่านทางระบบทางเดินอาหารสูงกว่าผู้ใหญ่ขนาดที่ได้รับเท่ากัน และเด็กยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ มากกว่าผู้ใหญ่ เช่น เด็กที่มีปัญหาทุโภชนาการ หรือในเด็กที่ขาดธาตุแคลเซียม เหล็ก สังกะสี
จะทำให้อัตราการดูดซึมของตะกั่วมากขึ้นเมื่อได้รับเข้าไป ส่งผลให้ยับยั้งฤทธิ์ของแคลเซียมในเซลล์ และยังพบว่าเด็กและ ผู้สูงอายุที่ได้รับตะกั่วในระดับต่ำเป็นเวลานานก็จะเกิดผลต่อระบบประสาทไวที่สุดและเกิดอาการเป็นพิษมากกว่าผู้ใหญ่ ขณะที่ผู้ใหญ่ที่ได้รับตะกั่วจากอาชีพ หรือจากสิ่งแวดล้อมก็ตามจะเกิดผลไวที่สุดคือ เพิ่มค่าความดันเลือด ที่แสดงอาการให้เห็นเด่นชัดกว่าภาวะเลือดจาง