กลไกการเกิดพิษและผลกระทบต่อสุขภาพ
          การเป็นพิษจากตะกั่วขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สัมผัส (exposture time) ชนิด(ตะกั่วอินทรีย์ หรือ ตะกั่วอนินทรีย์) และปริมาณ(dose)ของตะกั่วที่เข้าสู่ร่างกาย เกิดขึ้นได้ทั้งในคนที่ทำงานในสถานที่ประกอบการที่มีการใช้ตะกั่ว (Industrial) และคนที่ไม่ทำงานในสถานที่ประกอบการที่มีการใช้ตะกั่ว (Non-industrial) แต่ได้รับตะกั่วจาก
สิ่งแวดล้อม เช่น เด็กเล็ก ๆ ที่ชอบเก็บของตกพื้น หรือ เสก็ดสีที่ทาบ้านกินหรือเอาของเล่นที่มีสีเข้าปาก ผู้ใหญ่ที่ใช้ภาชนะที่ทำด้วยตะกั่วต้มเหล้าเถื่อนรับประทาน ใช้เครื่องสำอางที่มีสารตะกั่ว ใช้หนังสือพิมพ์ห่ออาหาร หรือรับประทานอาหารหรือยาบางอย่างที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน หรืออยู่ใกล้บริเวณที่มีกิจการเคาะ พ่นสีรถยนต์ เป็นต้น
          ตะกั่วเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำลายเซลล์ โดยมีคุณสมบัติไปรวมกับหมู่ซัลไฮดริล (sulhydryl , -SH ) ของโปรตีนและเอนไซม์ที่เยื่อหุ้มเซลล์และออร์แกเนลล์ต่างๆ ทำให้เซลล์ต่างๆ เกิดความเสียหาย หรือจะเกิดพิษแบบเฉียบพลัน ถ้าได้รับปริมาณมาก หรือเกิดเป็นพิษแบบเรื้อรัง ถ้าได้รับเข้าสู่ร่างกายทีละน้อยเป็นเวลานาน รูปที่ 2

รูปที่ 2 แสดงกลไกการเกิดพิษและผลกระทบของสารตะกั่วต่อสุขภาพ