สารตะกั่วในอุตสาหกรรม
          สารตะกั่วถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ประมาณปีละ 3-4 ล้านตันการผลิตโลหะตะกั่ว
ได้มาจากการถลุงสินแร่ตะกั่ว (Lead Ores) ในเหมืองตะกั่ว ได้แก่ galena (PbS), cerrusite (PbCO3) และ Anglesite (PbSO4) เป็นต้น และได้มาจากการผลิตตะกั่วที่ใช้แล้ว โดยนำตะกั่วมาถลุงใหม่ (refining) เช่น การถลุงแผ่นตะกั่วในหม้อแบตเตอรี่เก่า เป็นต้น
           ในธรรมชาติพบสารตะกั่ว 2 ประเภท คือ
           1. สารตะกั่วอนินทรีย์ (Inorganic lead) ได้แก่ lead dioxide (PBO2) , lead suboxide (Pb2O) , lead sulfate (PbSO4) เป็นต้น
           2. สารตะกั่วอินทรีย์หรือตะกั่วที่มีคาร์บอน (Organic lead) ได้แก่ tetraethyl lead (TEL) หรือ tetra methyl lead (TML) , lead stearate และ lead acetate เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการใช้ในสภาพเป็นโลหะตะกั่วหรือโลหะผสมของตะกั่ว (alloys) ที่สำคัญ ดังนี้
           การใช้สารประกอบอนินทรีย์ของตะกั่ว สำหรับ
          1. ใช้ผลิตหม้อแบตเตอรี กระบวนการทำขั้วอิเลคโทรดในการผลิตหม้อแบตเตอรี ต้องใช้แผงตะกั่วเป็นจำนวนมากที่ต้องฉาบด้วย lead sulfate และ lead suboxide เพื่อเพิ่มจำนวนโวลต์ (volt) ของขั้วแบตเตอรีให้สูงมากพอและรายงานผู้ที่ได้รับพิษจากสารตะกั่วจะเกิดมากที่สุดในโรงงานทำแบตเตอรี โดยเฉพาะโรงงานที่มีระบบการป้องกันที่ไม่ดี และไม่ตระหนักถึงอันตรายของตะกั่วต่อคนงาน นอกจากนี้ยังใช้ตะกั่วในกระบวนการผลิตถ่านไฟฉายอีกด้วย
          2. ใช้ในโรงงานผลิตสี (paint) สีน้ำและหมึกพิมพ์ เป็น lead carbonate (ตะกั่วขาว) ผสมกับ lead acetate ส่วนสีทาบ้านปัจจุบันมีการโฆษณาว่าไม่มีตะกั่วแล้ว
          3. ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบเป็น lead sulfate และ lead silicate
          4. ใช้ในการผลิตภาชนะพลาสติกและเคลือบสีเป็น lead chromate
          5. ใช้ในโรงงานไม้ขีดไฟและผลิตยางเป็น lead dioxide เป็นต้น
          6. ใช้ในทางเกษตรกรรม โดยผสมเป็นยาปราบศัตรูพืชและยาฆ่าแมลง เป็น lead arsenate และ lead arsenite

           การใช้สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่ว
           มีการใช้ในอุตสาหกรรมน้อยกว่าตะกั่วอนินทรีย์ สารประกอบอินทรีย์ของตะกั่วทุกชนิดสามารถซึมเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังได้ ละลายในไขมันได้ดีและติดไฟได้มีประโยชน์ดังนี้
           1. ใช้ผลิตน้ำมันหล่อลื่น จารบี ทำให้มีสี ได้แก่ lead stearate
          
2. ใช้ผลิตน้ำมัน (Petroleum industry) เป็น TML และ TEL
          
3. ใช้เป็นยารักษาโรคผิวหนัง เช่น lead stearate , lead napthenate เป็นต้น
           
        ใช้ในสภาพเป็นโลหะตะกั่ว หรือโลหะผสมของตะกั่ว (Alloys) ที่สำคัญได้แก่
          1. ใช้หล่อเป็นแผ่น Grid ( โลหะผสมตะกั่ว 93-97% กับ แอนติโมนิ 7-3% ) , หัวขั้ว
สะพานไฟ (battery connector) ของหม้อแบตเตอรี่
          2. ทำโลหะบัดกรี (Solder) โลหะผสมระหว่างตะกั่วกับดีบุก
          3. ใช้หล่อเป็นตัวพิมพ์ (Printing) เป็นโลหะผสมทั่ว ๆ ไปใช้ 85% ตะกั่ว 12% แอนติโมนี และ 3% เป็นดีบุก
          4. ทำหัวลูกปืน ซึ่งเป็นโลหะผสม ตะกั่ว กับ อาร์เซนิก 0.1-0.2%
          5. ทำฟิวส์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างตะกั่ว, บิทมัส , แคดเมียม หรือปรอทในอัตราส่วนต่าง ๆ แล้วแต่งานที่ใช้
          6. ใช้ตะกั่วหุ้มสายเคเบิล เช่น สายโทรศัพท์
          7. ใช้หล่อเป็นรูปต่าง ๆ ทำเป็นเครื่องประดับสตรี รูปปั้นหลายแบบ
          8. ใช้เป็นตัวเชื่อม (Connector) ในวงจรอิเลคโทรนิคส์ เช่น วิทยุ, โทรทัศน์
          9. ใช้เป็นโลหะกันรังสี (Radio active shielding)