Caseous necrosis
          การตายแบบ caseous necrosis นี้จะต้องพบร่วมกับการอักเสบชนิด granulomatous inflammation เสมอ เชื้อที่เป็นสาเหตุมีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง วัณโรคจัดเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของ caseous necrosis(2, 3, 4, 5)
          หากดูด้วยตาเปล่า บริเวณเนื้อตายจะมีลักษณะรวมทั้งสีเหมือนกับเนยแข็งที่จับตัวเป็นก้อน ส่วนลักษณะทางจุลพยาธิวิทยาจะเห็นบริเวณที่มี caseous necrosis ประกอบด้วยเซลล์ตายเป็น amorphous, coarsely granular, eosinophilic debris (ภาพที่8) การตายแบบ caseous จะแตกต่างกับ coagulative necrosis ตรงที่การตายแบบนี้มีการสูญเสีย cell outlines ทำให้ไม่เห็นโครงร่างของเซลล์เหมือนกับที่พบใน coagulative necrosis รอบๆ เนื้อตายจะมีการอักเสบชนิด granulomatous inflammation ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ activated macrophages ที่มีรูปร่างคล้ายเซลล์จำพวก epithelium เรียกว่า epithelioid cells เซลล์ชนิดนี้อาจมีการรวมตัวกันเป็นเซลล์ยักษ์ซึ่งมีหลายนิวเคลียส ( multinucleated giant cells)(2, 3)

ภาพที่8A

ภาพที่8B

ภาพที่8C
ภาพที่8 : Caseous necrosis ภาพ A และ B แสดงการอักเสบแบบ granulomatous inflammation ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ histiocyte ที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปจนดูคล้ายกับเซลล์บุผิว เรียกว่า epithelioid histiocytes (ลูกศรบาง) เซลล์พวกนี้จะมีนิวเคลียสรูปรี โครมาตินใส และมี
ซัยโตพลาสซึมปริมาณค่อนข้างมาก ติดสีชมพูอ่อน ขอบเขตของแต่ละเซลล์แยกกันไม่ค่อยชัดเจน
บางครั้ง epithelioid cells อาจมารวมตัวกันเป็นเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียส เรียกว่า giant cells (ลูกศรหนา) ส่วนล่างของภาพ B และ ภาพ C ทั้งหมด คือบริเวณที่มี caseous necrosis