การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำ
          วิธีการเจาะเลือดจากเส้นเลือดที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันมี 2 วิธี ได้แก่
การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำด้วยวิธีใช้กระบอกดูดเลือด (syringe blood collection system)
การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำด้วยระบบสูญญากาศ (evacauted blood collection system)
          การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำด้วยระบบสูญญากาศนั้น จัดว่าเป็นวิธีใหม่และเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำด้วยวิธีนี้ ได้รับการพัฒนาขึ้น โดยอาศัยหลักการทางฟิสิกส์ ในเรื่องกลศาสตร์การไหลของของเหลว (Fluid Mechanics) ปัจจุบันแนะนำให้ใช้การเจาะเลือดด้วยระบบสูญญากาศ เนื่องจากวิธีดังกล่าวมีความสะดวก ลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสเลือด และสามารถเก็บตัวอย่างเลือดได้หลายหลอด ในการเจาะเลือดเพียงครั้งเดียว
          เส้นเลือดที่เป็นตำแหน่งที่เหมาะสำหรับการเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจ คือ เส้นเลือดดำ median cubital vein ใน antecubital fossa หรือ crook of the elbow (ด้านในของขัอพับของแขน) เนื่องจากบริเวณดังกล่าว เส้นเลือดอยู่ตื้น และเส้นใหญ่ ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการบริการยาทางหลอดเลือดดำหลายครั้ง หรือ อยู่ในสภาพป่วยหนัก ควรหลีกเลี่ยงเส้นเลือดดังกล่าว เพื่อสงวนเก็บไว้สำหรับเป็นบริเวณที่ใช้บริหารยาที่สำคัญ หรือ การรักษาที่จำเป็นมากกว่า
          หากต้องการเจาะเส้นเลือดข้างที่มีการใส่สายสวนคาไว้อยู่ หรือ มี arteriovenous fistula ควรขออนุญาตแพทย์เจ้าของไข้ก่อน ในกรณีจำเป็นต้องเจาะเก็บเลือดตัวอย่างในข้างที่บริหารสารน้ำให้ผู้ป่วย ควรหยุดการให้สารน้ำชั่วคราว ประมาณ 3 นาทีก่อนเก็บเลือดตัวอย่าง เขียนบันทึกสิ่งที่กระทำกับผู้ป่วยตามความเหมาะสม ไว้ในบันทึกรายงานของผู้ป่วย และใบรายงานผลการตรวจ การเจาะเก็บเลือดตัวอย่างจากแขนด้านตรงข้าม หรือเจาะให้ต่ำกว่าบริเวณให้สารน้ำเพื่อส่งตรวจ เป็นการตรวจที่เหมาะสม ยกเว้นต้องส่งตรวจองค์ประกอบทางเคมีในเลือด ที่เป็นชนิดเดียวกับในสารน้ำที่กำลังบริหารอยู่ (เช่น กลูโคส หรือ เกลือแร่)
          ก่อนการเจาะเก็บตัวอย่าง ผู้เจาะเก็บตัวอย่างพึงปฏิบัติตามหลัก universal precaution อย่างเคร่งครัด อาทิเช่น สวมถุงมือ, ใส่เสื้อคลุมป้องกันที่เหมาะสม (ตารางที่ 1)
 
ตารางที่ 1 ข้อแนะนำตามหลักการ Universal precautions
การปฏิบัติ ข้อแนะนำ
1. ล้างมือ ทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งส่งตรวจ
2. สวมถุงมือ ทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งส่งตรวจ
3. สวม Mask สัมผัสกับผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หรือละอองสิ่งส่งตรวจ
4. สวม Gown ทุกครั้งที่สัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งส่งตรวจ