Potassium
          โพแทสเซียม  เป็นประจุบวกที่สำคัญที่อยู่ในเซลล์ มีความเข้มข้นภายในเซลล์สูงกว่าภายนอกเซลล์ถึง 20 เท่า ในร่างกายผู้ใหญ่มีโพแทสเซียมทั้งหมดประมาณ 3000-4000 mmol หรือประมาณ 40-50 mmo/kg โดยประมาณ 98% ของโพแทสเซียมทั้งหมด อยู่ในเซลล์ อีกประมาณ 2% อยู่ภายนอกเซลล์ ความเข้มข้นของโพแทสเซียมในเซลล์ มีค่าประมาณ 150-160 mmol/L ส่วนความเข้มข้นภายนอกเซลล์ มีค่าประมาณ 3.5-5 mmol/L ความแตกต่างของความเข้มข้นของโซเดียมและโพแทสเซียม ระหว่างภายในและภายนอกเซลล์ ถูกรักษาให้คงอยู่ในสภาพเช่นนี้ โดยการทำงานของ Na+ - K+ - ATPase pump
          คนปกติจะรับประทานโพแทสเซียมประมาณ 60-100 mmol/วัน  อาหารที่มีโพแทสเซียมในปริมาณมาก ได้แก่  อาหารประเภทเนื้อ ผลไม้ โดยเฉพาะ ส้ม กล้วย และแคนตาลูป เป็นต้น เมื่อร่างกายได้รับโพแทสเซียม ทั้งหมดจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กส่วนต้น และส่วนมากจะขับออกทางไตประมาณ 90%  ที่เหลือ 10% จะขับออกทางอุจจาระ ส่วนน้อยขับออกทางเหงื่อ

ปัจจัยที่มีผลต่อสมดุลย์ของโพแทสเซียม ระหว่างในเซลล์กับของเหลวนอกเซลล์
     1. ระดับของฮอร์โมนอินซูลิน ควบคุมการทำงานของ  Na-K-ATPase pump
     2. Catecholamines g -receptors ยับยั้งหรือลด ส่วน b2-receptors กระตุ้นการขนส่งโพแทสเซียมเข้าเซลล์
     3. Acid-base balance ภาวะ acidosis ทำให้ K เคลื่อนออกจากเซลล์ ส่วนภาวะ alkalosis ทำให้ K เคลื่อนเข้าเซลล์
     4. Aldosterone เพิ่มการหลั่งโพแทสเซียมใน collecting tubule ทำให้มีการสูญเสียโพแทสเซียมทางปัสสาวะมากขึ้น
     5. Na-K-ATPase pump
     6. ความเข้มข้นของ  plasma potassium
     7. การออกกำลังกาย  โพแทสเซียมจะหลั่งออกจากเซลล์
     8. Hyperosmolarity
     9. Cellular breakdown

บทบาทของโพแทสเซียมต่อร่างกาย
          โพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของ electrolyte ภายในเซลล์ มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาระดับปริมาตรของเซลล์ การรักษาระดับ pH และ enzyme ภายในเซลล์ต่างๆ การสร้าง nucleic acid การสร้าง protein และการเจริญเติบโตของร่างกาย บทบาทที่สำคัญอีกอย่างคือ biologic electricity ของเซลล์ต่างๆ ได้แก่ เซลล์ประสาท เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ

Reference range     plasma,  serum  K 3.5-5.0  mmol/L