สัตว์ขาข้อที่ปล่อยพิษเมื่อถูกสัมผัส (Passive envenomation)
ด้วงก้นกระดก (Rove beetle:Paederus fuscipes)
         ด้วงก้นกระดก เป็นด้วงขนาดเล็กประมาณ 7 มม. ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม และส่วนท้องมีสีส้ม เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว และมักจะงอส่วนท้องขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น จึงได้ชื่อว่า ด้วงก้นกระดก ด้วงชนิดนี้อาศัยบริเวณที่ชื้นพงหญ้า ด้วงชนิดนี้เมื่อถูกสัมผัสจะปล่อยสารที่มีชื่อว่า paederin ออกมา สารชนิดนี้มีฤทธิ์ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ เนื่องจากด้วงชนิดนี้ชอบมาเล่นไฟเวลากลางคืน ผู้ป่วยอาจจะไปสัมผัสตัวด้วง และรับพิษโดยไม่รู้ตัว ผู้ที่นอนและเปิดไฟทิ้งไว้ จะมีโอกาสสัมผัสด้วงชนิดนี้ได้มาก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน คัน ในรายที่เป็นมากอาจมีไข้ปวดศรีษะ หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ แผลที่ตรวจพบจะมีลักษณะเป็นทางยาว ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยเอามือไปปัดตัวด้วง อาจจะพบเป็นตุ่มใส (vesicle) ตำแหน่งที่พบบ่อย ได้แก่ บริเวณใบหน้า คอ รักแร้ ผู้ป่วยมักจะให้ประวัติว่า ตื่นนอนขึ้นมาแล้วมีอาการปวดแสบปวดร้อน  อาการเหล่านี้จะหายเองได้ภายใน 7-10 วัน ควรทำความสะอาดแผล และป้องกันการติดเชื้อที่อาจตามมาภายหลัง ควรแนะนำผู้ป่วยไม่ให้เปิดไฟทิ้งไว้เวลานอน และก่อนนอนควรตรวจดูบริเวณที่นอน ว่ามีด้วงอยู่หรือไม่ ทำลายแหล่งที่อาจเป็นที่เพาะพันธุ์ด้วงรอบๆ บ้าน  เมื่อผู้ป่วย  รู้ตัวว่าสัมผัสกับด้วงชนิดนี้ ควรล้างด้วยน้ำสะอาดทันที