สาเหตุ |
ระดูขาวแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดตามสาเหตุได้แก่ 1. Physiologic leukorrhea (ระดูขาวปกติ) เป็นระดูขาวที่พบในภาวะปกติเป็นส่วนผสมของสิ่งซี่งขับออกจากต่อมต่างๆ ของ ระบบอวัยวะสืบพันธุ์(5-7) ได้แก่ ก. อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก ซึ่งประกอบด้วยต่อมเหงื่อ (Sweat gland) และ ต่อมไขมัน (Sebaceous gland) บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (Vulva) ต่อม Paraurethral gland หรือ Skene's gland บริเวณท่อปัสสาวะ และต่อม Bartholin's gland ซึ่งอยู่บริเวณส่วนล่างและด้านในของ Labia minora ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งเป็นต่อมที่ สำคัญจะสร้างน้ำเมือกใสเหนียวๆ ออกมาหล่อลื่นช่องคลอดส่วนล่างและปากช่องคลอด และจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เมื่อมีการกระตุ้นทางเพศ(7) ข. ช่องคลอดไม่มีต่อม แต่ช่องคลอดชุ่มชื้นอยู่เสมอโดยมี Transudate ซึ่งเป็น น้ำลักษณะคล้ายเหงื่อ สร้างโดยเยื่อบุช่องคลอดเองปนกับสิ่งซึ่งขับออกมาจากต่อมที่ ปากมดลูกในภาวะปกติของสตรีในวัยเจริญพันธุ์(6,7) ของเหลวในช่องคลอดประกอบด้วย Tissue fluid เซลล์บุผนังช่องคลอด Electrolyte โปรตีน และ Lactic acid ซึ่งสร้างโดย Lactobacillus vaginalis จาก Glycogen ของเยื่อบุผนังช่องคลอด จึงมีฤทธิ์เป็นกรด pH ประมาณ 3.5-4.5 แต่ส่วนบนของช่องคลอด pH อาจสูงกว่าส่วนล่าง เพราะต่อมที่ ปากมดลูกสร้างเยื่อเมือกซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างปนอยู่ด้วย ในระยะที่มีระดูเลือดที่ไหลออกมา มีฤทธิ์เป็นด่างทำให้ pH เพิ่มขึ้นเป็น 5.8-6.8(6,7 ) ค. ปากมดลูก มีต่อมที่ปากมดลูก (Endocervical gland) ในการขับเมือก (Cervical mucus) ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญที่ให้เยื่อเมือกหล่อลื่นช่องคลอด มีลักษณะ ใสเหนียว และมีฤทธิ์เป็นด่าง ปกติจับเป็นก้อนเหนียวจุกที่ปากมดลูก (Cervical plug) มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ป้องกันไม่ให้เชื้อโรคจากช่องคลอดเข้าสู่โพรงมดลูก(6,7 ) ง. เยื่อบุโพรงมดลูก แม้จะมีต่อม (Endometrial gland) มากมาย แต่ไม่ทำงาน จนกว่าจะมีการตกไข่เกิดขึ้น โดยเฉพาะวันที่ 18-20 ของรอบระดู แล้วจึงให้ Serous transudate ไหลลงสู่ช่องคลอดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น( 3 ) จ. หลอดมดลูก ให้สิ่งขับถ่ายเป็นส่วนน้อยของระดูขาวปกติ ระดูขาวที่ปกติอาจเพิ่มขึ้นมากได้ในสภาวะดังต่อไปนี้( 3,6,7 ) 1. ในช่วงเวลาใกล้การตกไข่ ประมาณวันที่ 13-14 ของรอบระดู ปริมาณของ ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นต่อมบริเวณปากมดลูก ให้ทำงานมากขึ้น หลั่งน้ำเมือกใสออกมาเป็นจำนวนมาก 2. ระยะก่อนมีระดู 2-3 วัน (Premenstrual phase) เป็นช่วงที่มีเลือดมา หล่อเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสิ่งคัดหลั่ง จากทุกส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพิ่มขึ้น 3. การตั้งครรภ์ มีการร่วงหลุดของเซลล์บุผนังช่องคลอดและน้ำเมือก จาก ต่อมบริเวณปากมดลูกเพิ่มมากขึ้น 4. ขณะร่วมเพศ ถ้ามีการกระตุ้นหรือเล้าโลมทางเพศ จะทำให้ต่อม Bartholin's glands ทำงานเพิ่มขึ้น สร้างน้ำเมือกออกมามากขึ้น ในทารกแรกเกิดเพศหญิง อาจพบมีระดูขาวลักษณะเป็นเมือกภายใน 1-10 วันแรกภายหลังคลอด ซึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นมดลูกและช่องคลอด โดยเอสโตรเจน จากรก(1,3) 2. Pathologic leukorrhea (ระดูขาวผิดปกติ) ระดูขาวมักมีจำนวนมาก มีลักษณะและกลิ่นผิดปกติ จนทำให้เกิดความรำคาญ อาจมีอาการคัน ปวดแสบร้อนบริเวณปากช่องคลอดหรือบริเวณใกล้เคียงถ่ายปัสสาวะ แสบ ขัด อาจทำให้เกิดการเจ็บขณะร่วมเพศได้ในบางราย ( 1-4 ) สาเหตุของระดูขาวผิดปกติ ได้แก่ 1. การติดเชื้อ ได้แก่ เชื้อ Trichomonas vaginalis เชื้อรา เชื้อหนองใน เชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ที่มักพบในเด็ก เช่น Staphylococcus, Streptococcus, E coli(3) และเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณช่องคลอด และอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (Vulvovaginitis) ระดูขาวที่เกิดจากเชื้อต่างกันจะมีลักษณะต่างกัน ในสตรีวัยหมดระดู อาจเกิด Senile vaginitis (Atrophic vaginitis) ซึ่งเกิดจากเยื่อบุผนังช่องคลอดบางลง มีความต้านทานต่อการติดเชื้อน้อย ทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย( 7 ) 2. ปากมดลูกอักเสบและเป็นแผล(6,7) 3. สิ่งแปลกปลอมในช่องคลอด เช่น สำลี กระดาษชำระ Tampon, Pessary วัสดุที่ใช้ในการคุมกำเนิดเช่น Cervical cap, Diaphragm หรือ Condom และวัสดุ ที่คู่นอนใส่ไว้ในช่องคลอดขณะร่วมเพศ ในเด็กอาจพบเข็มกลัด ที่เหน็บกระดาษ หรือ เมล็ดผลไม้( 1,3) 4. แผลที่ปากช่องคลอดและปากมดลูก ซึ่งอาจเกิดจากการกระทบกระเทือน อย่างรุนแรง หรือเกิดจากการติดเชื้อ เช่น ซิฟิลิส หรือเริม( 1,3) 5. เนื้องอกและมะเร็งของช่องคลอด และเนื้องอกและมะเร็งของปากมดลูก ที่พบบ่อย ได้แก่ Prolapsed submucous myoma, Cervical polyp และ Carcinoma of cervix โดยเฉพาะในระยะหลังๆ จะมีกลิ่นเหม็นมาก เพราะมีการตายของเซลล์( 1,3) 6. สาเหตุอื่นๆ ที่พบไม่บ่อย เช่น มีทางติดต่อระหว่างระบบทางเดินปัสสาวะ กับช่องคลอด เช่น Urethro-vaginal fistula, Vesico-vaginal fistula และ Uretero-vaginal fistula เป็นต้น หรือมีทางติดต่อระหว่างทวารหนักกับช่องคลอด เช่น Recto-vaginal fistula( 3) เป็นต้น |