ภาวะโลหิตจางอื่นๆ

   ภาวะโลหิตจางกลุ่มที่เซลล์เม็ดเลือดแดงมีขนาดและติดสีปกติอื่นๆ ที่สำคัญมีดังนี้
   ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเสียเลือด (Blood loss anemia)
   ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ
        1. ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเสียเลือดเฉียบพลัน
   (Acute posthemorrhagic anemia) เกิดจากการเสียเลือดจำนวนมากอย่างฉับพลัน
   อาจเป็นการเสียเลือดออกนอกร่างกาย  เช่น จากบาดแผล หรือเป็นการเสียเลือดสู่ body
   cavity,  tissue space  หรือในทางเดินอาหาร  ซึ่งอาจมีปัญหาในการวินิจฉัย
        อาการและการแสดงขึ้นอยู่กับ อัตราและปริมาณของการเสียเลือด บริเวณ
   ที่เลือดออก   โรคต้นต่อที่เป็นสาเหตุ (underlying disease)สภาพหัวใจและหลอดเลือด
   ของผู้ป่วย  นอกจากนี้อายุ  ภาวะทางอารมณ์และจิตใจ   ตลอดจนสถานภาพ
   ความสมบูรณ์ของร่างกายด้านอื่นๆ ก็มีผลต่อการเสียเลือดของผู้ป่วย เช่น
   การไม่ขาดสารอาหาร   อาการที่พบมีตั้งแต่เวียนศีรษะ  หน้ามืด  เหงื่อออก  ชีพจรเร็ว
   หอบ ถ้าเสียเลือดมากไม่หยุด  อาการจะดำเนินต่อไปจนถึงขั้นความดันตกช็อก (shock)
   และเสียชีวิตได้
        ภายหลังการเสียเลือดอย่างเฉียบพลัน ในระยะแรกจะมีอาการของปริมาตรเลือดน้อย
   เกินปกติ  (hypovolemia)  หลังจากนั้น 2-3 วัน ร่างกายจะปรับตัวเพื่อให้ปริมาตรเลือด
   (blood volume) อยู่ในระดับปกติหรือใกล้เคียง โดยการดึงสารน้ำเข้าสู่หลอดเลือด
   จะทำให้เห็นอาการของภาวะโลหิตจางเด่นชัดขึ้น
        เนื่องจากการสูญเสียเลือดในระยะแรกเกิดขึ้นทั้งจำนวนเม็ดเลือดแดงและน้ำเลือด
   อย่างได้สัดส่วนกัน  จึงอาจไม่พบการเปลี่ยนแปลงของฮีมาโตคริต แต่อาจจะพบว่า
   มีจำนวนเกล็ดเลือดลดลง    เนื่องจากถูกนำไปใช้ในการอุดหลอดเลือดและบาดแผล
   การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะพบเพียงระยะสั้น  หลังจากนั้นเกล็ดเลือดจะเพิ่มสูงขึ้น
   สู่ระดับปกติหรือสูงกว่าปกติภายใน 1 ชั่วโมง  หลังจากนี้มักจะพบจำนวนเม็ดเลือดขาว
   นิวโตรฟิวสูงกว่าปกติ (neutrophilic leukocytosis) โดยมีจำนวนนับเม็ดเลือดขาว
   ประมาณ 10-20x103/mL เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายของ granulocyte จาก marginal
   pool และจากแหล่งสะสมในไขกระดูก   ต่อมาในระยะภายหลัง 24 ชม. 
   จะมีเคลื่อนของสารน้ำเข้าสู่หลอดเลือด เพื่อรักษาปริมาตรเลือดไว้  จึงเริ่มพบการลดลง
   ของฮีมาโตคริต อย่างไรก็ตามฮีมาโตคริต ที่ลดลงอาจยังไม่ชัดเจนหรือได้สัดส่วน
   กับเซลล์เม็ดเลือดแดงที่เสียไป  จนกว่าเวลาจะผ่านไป 3 วัน  หรือมากกว่าหลังการ
   เสียเลือด
          ลักษณะของภาวะโลหิตจางที่พบในระยะแรกจะเป็นภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดง
   มีขนาดและการติดสีปกติ (normochromic normocytic anemia)  หลังจากนั้น
   เมื่อมีการหลั่ง  erythropoietin  ซึ่งจะกระตุ้นให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
   และทำให้พบ reticulocyte ในการตรวจเสมียร์เลือดภายหลังจากที่มีเลือดออก 3-5 วัน
   ปริมาณ reticulocyte ที่พบจะขึ้นกับปริมาตรของเลือดที่เสีย  ซึ่งจะพบจำนวนมากที่สุด
   ประมาณวันที่ 10 หลังการเสียเลือด  ในระยะนี้จึงอาจพบว่ามี  MCV เพิ่มขึ้น
   มี polychromasia สูงขึ้นกว่าปกติ (polychromatoplilia) และพบเซลล์เม็ดเลือดแดง
   ที่มีขนาดโตกว่าปกติเพิ่มขึ้น (macrocytosis)
        2. ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการเสียเลือดเรื้อรัง (Chronic posthemorrhagic
   anemia)  เป็นภาวะโลหิตจางจากการเสียเลือดปริมาณน้อยติดต่อกันเป็นเวลานาน
   มักไม่พบลักษณะของภาวะโลหิตจางอย่างเด่นชัดจนกว่าเหล็กที่สะสมในร่างกาย
   จะหมดไป  ภาวะโลหิตจางที่พบเป็นลักษณะของภาวะโลหิตจางจากการขาดเหล็ก

   ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคเรื้อรัง (Anemia of chronic disorder)
        โรคเรื้อรัง (Chronic disease)  เช่น  โรคติดเชื้อเรื้อรัง (chronic infection),
   โรคไขข้ออักเสบ (rheumatoid arthritis)  และโรคมะเร็ง (neoplastic disease)
   มักจะมีภาวะโลหิตจางไม่รุนแรงนัก โดยลักษณะของเซลล์เม็ดเลือดแดงส่วนใหญ่
   เป็นเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีขนาดและการติดสีปกติ  (normochromic normocytic
   erythrocyte) หรือเซลล์เซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีขนาดเล็กและการติดสีจางกว่าปกติ
   (hypochromic microcytic erythrocyte)
        สาเหตุของภาวะโลหิตจางที่เกิดจากโรคเรื้อรังเกิดจากอายุขัยของเซลล์เม็ดเลือดแดง
   สั้นลง และไขกระดูกไม่สามารถปรับตัวได้   นอกจากนี้จะพบว่ามีความผิดปกติของ
   เมตาบอลิซึมของเหล็ก  ทำให้เหล็กสะสมอยุ่ใน RE cell  แต่ไม่สามารถนำมาใช้
   ในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงได้

   ภาวะโลหิตจางที่พบในโรคต่อมไร้ท่อ (Anemia in endocrine disease)
        ในภาวะต่อมธัยรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ (hypothyroidism) จะพบภาวะโลหิตจาง
   ที่มีเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีขนาดและการติดสีปกติ (normochromic normocytic
   anemia) ซึ่งภาวะโลหิตจางที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากมีการสร้างเซลล์เม็ดเลือด
   ในไขกระดูกลดลง    เนื่องจากความต้องการใช้ออกซิเจนของเนื้อเยื่อในร่างกายลดลง
   นอกจากนี้ในกรณีที่มีการขาดเหล็กร่วมด้วยอาจพบภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดง
   มีขนาดเล็กและการติดสีจางกว่าปกติ (hypochromic microcytic anemia)  หรือ
   อาจพบภาวะโลหิตจางที่มีเม็ดเลือดแดงขนาดใหญ่กว่าปกติ (macrocytic anemia)
   ถ้ามีการขาดไวตามิน B12 หรือขาดสาร folate  ในภาวะโลหิตจางที่เกิดจากภาวะ
   ที่ต่อมใต้สมองทำงานน้อยกว่าปกติ (hypopituitarism) อาจเป็นผลจากการขาด
   ฮอร์โมนที่ควบคุมต่อมไร้ท่อเป้าหมาย (target gland) เช่น ต่อมธัยรอยด์ ต่อมหมวกไต
   ลักษณะภาวะโลหิตจางที่พบส่วนใหญ่จะเป็นภาวะโลหิตจางที่เม็ดเลือดแดงมีขนาด
   และการติดสีปกติ  (normochromic normocytic anemia)

  ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากไตวายเรื้อรัง (Anemia of chronic renal insufficiency)
        ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีระดับ BUN สูงมากมักจะมีภาวะโลหิตจางที่รุนแรงมาก
   ตามไปด้วย   แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นสัดส่วนกันโดยตรง
        ปัจจัยที่ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจางที่สำคัญ คือ
        1. มีการสร้าง erythropoietin ลดลง
        2. มีการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดง
        การตรวจทางโลหิตวิทยาจะพบฮีมาโตคริตอยู่ระหว่าง 15-30%   อาจพบ
   fragmented cell ในผู้ป่วยที่ทำ dialysis อาจพบเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีขนาดโตกว่า
   ปกติเพิ่มขึ้น (macrocytosis) จากการขาดสาร folic acid  และมักพบความผิดปกติ
   ของในการทำงานของเกล็ดเลือด (platelet function) ร่วมด้วย
        ไขกระดูกมักจะพบลักษณะเซลล์หนาแน่นกว่าปกติ (hypercellular) ร่วมกับ
   การมีเซลล์กลุ่มเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ (erythroid hyperplasia)

   ภาวะโลหิตจางที่เกิดในโรคตับ (Anemia in liver disease)
   มีสาเหตุหลายประการ  เช่น
   1. ความผิดปกติของเมตาบอลิซึมของสาร folate หรือการขาดสาร folate
   2. การขาดเหล็กจากการเสียเลือด
   3. ปริมาตรเลือดน้อยกว่าปกติ (hypovolemia)
   4. อายุขัยเซลล์เม็ดเลือดแดงสั้นลงและมีการตอบสนองของไขกระดูกต่ำกว่าปกติ

       ลักษณะของเม็ดเลือดแดงจะเป็นเซลล์เม็ดเลือดที่มีขนาดปกติ  (normocytic
   erythrocyte)  หรือเป็นเซลล์เม็ดเลือดที่มีขนาดโตกว่าปกติ (macrocytic
   erythrocyte)   อาจพบ target cell  ไขกระดูกมีลักษณะเซลล์หนาแน่นปกติ
   (normocellular) หรือเซลล์หนาแน่นมากกว่าปกติ (hypercellular) มักพบ
   การมีเซลล์กลุ่มเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ (erythroid hyperplasia) ร่วมกับ
   เซลล์เม็ดเลือดแดงตัวอ่อนที่มีขนาดโตกว่าปกติ (macronormoblast)