ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง
(Hemolytic anemia)

       หลังจากออกสู่กระแสโลหิตแล้วเซลล์เม็ดเลือดแดงจะหมุนเวียนไปสู่อวัยวะต่างๆ
   ทั่วร่างกายคิดเป็นระยะทางถึง 175 ไมล์ หรือ คิดเป็นรอบเป็นจำนวนถึง107 X 105 รอบ
   ตลอดอายุขัย 120 วัน การผ่านไปตามอวัยวะต่างๆ เหล่านี้ บางครั้งเม็ดเลือดแดง
   ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตต่างๆ เช่น หลอดเลือดที่มีขนาดเล็กกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดง
   ผ่านลิ้นหัวใจ ผ่านอวัยวะที่มีเซลล์เขมือบ (phagocytic cell)เป็นต้น ทำให้
   เกิดการแตกทำลายได้ง่าย ฉะนั้นเม็ดเลือดแดงจึงต้องอาศัยพลังงานและความยืดหยุ่น
   ของผนังเซลล์เม็ดเลือดแดงเอง (red cell deformability) อย่างมากในการปรับเปลี่ยน
   รูปร่างให้สามารถคงทนต่อภาวะวิกฤตต่างๆ ที่ต้องเผชิญ และเป็นสาเหตุให้เกิด
   การแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดง ภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลาย
   ของเม็ดเลือดแดงเป็นภาวะที่เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่ธรรมดา   ทำให้มีอายุขัยสั้น
   กว่าปกติ

   การแบ่งประเภท
        การแบ่งประเภทของภาวะโลหิตจางกลุ่มนี้แบ่งได้หลายแบบ   ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์
   ที่ใช้แบ่ง
   1. แบ่งตามแหล่งที่ถูกทำลาย  (site of hemolysis)
      1.1 Intravascular hemolysis การทำลายเม็ดเลือดแดงเกิดขึ้นในกระแสโลหิต
       1.2 Extravascular hemolysis การทำลายเม็ดเลือดแดงเกิดขึ้นนอกกระแสโลหิต
             โดยถูกทำลายโดย tissue macrophage ที่ตับหรือม้าม
   2. แบ่งตามสาเหตุ (etiology)  และพยาธิกำเนิด (pathogenesis)
       2.1 Intrinsic defect หรือ inherited hemolytic anemia
             2.1.1 Defects in erythrocyte membrane
                      2.1.1.1 Hereditary spherocytosis
                      2.1.1.2 Hereditary elliptocytosis
                      2.1.1.3 Abetalipoproteinemia
                      2.1.1.4 Hereditary stomatocytosis
                      2.1.1.5 Lecithin-cholesterol acyl transferase deficiency
             2.1.2 Deficiency of erythrocyte glycolytic enzymes
                      2.1.2.1 Pyruvate kinase
                      2.1.2.2 Hexokinase
                      2.1.2.3 Glucose-phosphate isomerase
                      2.1.2.4 Phosphofructokinase
                      2.1.2.5 Triosephosphate isomerase
                      2.1.2.6 Phosphoglycerate kinase
             2.1.3 Deficiency of enzyme in pentose phosphate pathway
                      2.1.3.1 Glucose-6-phosphate dehydrogenase  (G-6-PD)
                      2.1.3.2 Glutamyl-cysteine synthetase
                      2.1.3.3 Glutathione reductase
             2.1.4 Defects in globin structure and synthesis
                      2.1.4.1 Thalassemia
                      2.1.4.2 Hemoglobinopathy
       2.2 Extrinsic defect หรือ acquired hemolytic anemia
             2.2.1 Immunohemolytic anemia
                      2.2.1.1 Transfusion of incompatible blood
                      2.2.1.2 Hemolytic disease of the newborn
             2.2.2 Traumatic and microangiopathic hemolytic anemia
                      2.2.2.1 Prosthetic valve and other cardiac abnormalities
                      2.2.2.2 Hemolytic-uremic syndrome
                      2.2.2.3 Thrombotic thrombocytopenic purpura
                      2.2.2.4 Disseminated intravascular coagulation
             2.2.3 Infection agents
             2.2.4 Chemical drugs
             2.2.5 Physical agents

   การแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง (Hemolysis)
        การแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ครบกำหนดอายุขัย คือ 120 วัน เรียกว่า
   "Physiologic hemolysis" ส่วนการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงก่อนครบกำหนด
   อายุขัย เรียกว่า "Pathologic hemolysis"  กลไกในการแตกทำลายของเซลล์
   เม็ดเลือดแดงที่สำคัญ มี 4 กลไก คือ
        1. Fragmentation  เซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีอายุมาก และขาดพลังงานที่จะควบคุม
   โครงสร้างไว้ จะมีการแตกทำลายโดยการแตกออกเป็นชิ้นส่วน สามารถตรวจดู
   ได้จากเสมียร์เลือด
        2. Osmotic lysis เกิดจากความสามารถในด้านการยอมให้ซึมผ่าน (permeability)
   เสียไปทำให้เกิดการเสียสมดุลย์ของ Na, K และ anion  เป็นสาเหตุให้เม็ดเลือดแดง
   แตกง่ายกว่าปกติ
        3. Hemoglobin denaturation เกิดจากความไม่มีเสถียรภาพของฮีโมโกลบิน
   ทำให้เกิดการเสื่อมสลายเป็น inclusion อยู่ภายในเซลล์ ทำให้ผนังเซลล์มีความกระด้าง
   และไม่คงทนต่อภาวะวิกฤตที่เซลล์เม็ดเลือดแดงต้องเผชิญและเป็นสาเหตุให้
   เม็ดเลือดแดงแตกง่ายกว่าปกติ
        4. Erythrophagocytosis คือ การที่เซลล์เม็ดเลือดแดงถูกจับกินโดย macrophage
   ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดงเอง หรือการทำงานผิดปกติไปของ
   macrophage

   พยาธิสรีระของการเกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง
        แบ่งตามแหล่งที่ถูกทำลายเป็น 2 แหล่งสำคัญ (รูปที่ 1) ดังนี้
        1. Intravascular hemolysis คือ การทำลายเม็ดเลือดแดงที่เกิดขึ้นในกระแสโลหิต
   โดยทั่วไปแล้วการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงในกระแสโลหิตจะเกิดขึ้นเฉพาะในภาวะ
   ที่มีพยาธิสภาพเท่านั้น  กลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการทำลายเม็ดเลือดแดงเกิดขึ้น
   ในกระแสโลหิต ได้แก่ การทำลายเม็ดเลือดแดงที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน เช่น
   Paroxysmal nocturnal hemoglobinuria (PNH), การทำลายเม็ดเลือดแดงที่เกิดจาก
   ผนังหลอดเลือดหนาจนรูตีบเล็กลง หรือมี fibrin thrombi อุดตัน  หรือเกิดจาก
   พยาธิสภาพของลิ้นหัวใจ เช่น Microangiopathic hemolytic anemia (MAHA),
   การทำลายเม็ดเลือดแดงจากพิษต่างๆ เช่น พิษงูแมวเซา  พิษจาก tetanus toxiod
   เป็นต้น  การทำลายเม็ดเลือดแดงเกิดขึ้นในกระแสโลหิตทำให้ฮีโมโกลบินคั่งค้างอยู่ใน
   กระแสโลหิต และถูกกำจัดโดยเหล็กจะจับกับ albumin เป็น methemalbumin เก็บไว้ที่
   macrophage  ส่วนโกลบินจะถูกนำมาใช้สร้างโกลบินใหม่  ฮีโมโกลบินที่เหลือจะจับกับ
   Haptoglobin เป็นสารประกอบ Haptoglobin-hemoglobin และถูกนำไปที่ RE system
   ทั้ง methemalbumin และสารประกอบ Haptoglobin-hemoglobin จะมีกระบวนการ
   สลาย (Catabolism) ต่อไป  นอกจากนี้ฮีโมโกบินที่เหลือจากการจับกับ Haptoglobin
   จะถูกขับออกทางไตเป็น Hemoglobinuria หรือถูกเปลี่ยนเป็น Hemosiderin
   และหลุดออกมาในปัสสาวะเรียกว่า Hemosiderinuria
        2. Extravascular hemolysis  คือ การทำลายเม็ดเลือดแดง
   ที่เกิดขึ้นนอกกระแสโลหิต  โดยถูกทำลายโดย macrophage ที่ตับหรือม้าม
   โดยทั่วไปแล้วการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงนอกกระแสโลหิตจะเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ
   แม้ในภาวะผิดปกติกว่าร้อยละแปดสิบก็เกิดขึ้นนอกกระแสโลหิต
   การทำลายเม็ดเลือดแดงที่ RE system จะเริ่มโดยมีการสันดาป (Oxidation)
   ที่ methane bridge ได้ Protoporphyrin ซึ่งจะถูกเติมออกซิเจน (oxidation) เป็น
   Biliverdin ซึ่งจะถูกลดออกซิเจน (reduction) เป็น unconjugated bilirubin จับกับ
   albumin และถูกนำไปที่เซลล์ตับเพื่อทำปฏิกริยากับเอนไซม์ Glucuronide เป็น
   conjugated bilirubin ขับออกทางท่อน้ำดี  และถูกแบคที่เรียในลำไส้เปลี่ยนเป็น
   Stercobilin ออกมาในอุจจาระ  บางส่วนจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสโลหิต
   ไปขับออกที่ไตในรูปของ Urobilinogen  ฉะนั้นเมื่อเกิดการแตกทำลาย
   ของเซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้น จะตรวจพบ
 

unconjugated bilirubin ในเลือด
Urobilinogen ในปัสสาวะ
Stercobilin ออกมาในอุจจาระ 
จะมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับความรุนแรง
ของการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดง
   รูปที่ 1    กระบวนการสลาย (Catabolism) ของฮีโมโกลบินในกระแสเลือด
                (intravascular hemolysis, IVH) และนอกกระแสเลือด
                (extravascular hemolysis, EVH)

   การตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลาย
  ของเม็ดเลือดแดงแบ่งเป็น  3  กลุ่มคือ
   1. กลุ่มที่แสดงให้เห็นว่ามีการทำลายของเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ  ได้แก่
   1.1 ช่วงอายุขัยของเม็ดเลือดแดงสั้นลง โดยศึกษาจากเม็ดเลือดแดงที่ติดฉลากด้วย
         chromium-51
   1.2 กระบวนการสลาย (Catabolism) ของฮีมเพิ่มขึ้นโดยวัดได้จาก total bilirubin และ
         unconjugated bilirubin เพิ่มขึ้น  endogenous carbon-monoxide production
         เพิ่มขึ้น มีการขับ urobilinogen เพิ่มขึ้น
   1.3 serum lactate dehydrogenase (LDH) เพิ่มขึ้น
   1.4 ในกรณีที่เป็นการทำลายเม็ดเลือดแดงที่เกิดขึ้นในกระแสโลหิตจะตรวจพบว่ามี
         hemoglobinuria, hemoglobinemia, hemosiderinuria  และระดับ haptoglobin
         ลดต่ำลง  หรืออาจไม่พบเลย
   2. กลุ่มที่แสดงให้เห็นถึงกลไกการปรับตัว โดยมีการสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
   2.1 การตรวจเสมียร์เลือดพบ reticulocytosis หรือ polychromatophilia,
         macrocytosis, erythroblastosis, leukocytosis และ thrombocytosis
   2.2 การตรวจไขกระดูกพบ  erythroid hyperplasia
   3. กลุ่มที่แสดงลักษณะเฉพาะของภาวะโลหิตจางแต่ละประเภท  ที่เกิดจาก
       การแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง  ซึ่งเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรค
   3.1 specific morphologic abnormality เซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีรูปร่างผิดปกติต่างๆ
         จะสามารถบ่งถึงโรคต้นต่อที่เป็นสาเหตุได้ เช่น การตรวจพบ spherocyte บ่งถึงโรค
         hereditary spherocytosis เป็นต้น
   3.2 Osmotic fragility test มีการเปลี่ยนแปลงจำเพาะในโรคบางโรค เช่น เพิ่มขึ้นใน
         hereditary spherocytosis  และลดลงใน thalassemia
   3.3 การตรวจอื่นๆ เช่น antiglobulin test, Cooms' test  การตรวจหาเอนไซม์
         ของเม็ดเลือดแดง (Rbc enzyme) เป็นต้น

   Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase  (G-6-PG) deficiency
          G-6-PD เป็นเอนไซม์ใน pentose phosphate pathway ของ glucose
   metabolism มีอยู่ใน cell  ทั่วไปของร่างกายและในเซลล์เม็ดเลือดแดง มีหน้าที่รักษา
   เสถียรภาพของเซลล์ ในเซลล์ที่มีนิวเคลียสมีการสร้างเอนไซม์ต่างๆ ขึ้นได้อีก
   แต่เซลล์เม็ดเลือดแดงไม่มีนิวเคลียสและยังทำหน้าที่ขนถ่ายออกซิเจนซึ่งทำให้เกิดมี
   Oxygen radical ซึ่งเป็นพิษเกิดขึ้นภายในเม็ดเลือดแดงอยู่ตลอดเวลา  จึงมีผล
   กระทบมาก    โดยมีความสำคัญต่อการคงรูปร่างของเซลล์เม็ดเลือดแดง  G-6-PD
   deficiency เป็นความผิดปกติทางเอนไซม์ของเซลล์เม็ดเลือดแดงที่พบบ่อยที่สุด
   และมีการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์แบบ X-linked  โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการ
   ผิดปกติยกเว้นในกรณีที่ได้รับยาบางชนิดหรือมีการติดเชื้อ  เพราะเม็ดเลือดแดงที่ขาด
   G-6-PD จะไม่สามารถสร้าง NADPH ซึ่งจะเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิด GSH (reduced
   glutathione)  โดย GSH มีความสำคัญในการกำจัด hydrogen peroxide และ
   oxidant radical ซึ่งเกิดจากเมตาบอลิซึมของเม็ดเลือดแดงและยาบางชนิด
   ในภาวะที่ขาด  G-6-PD  ฮีโมโกลบินจะถูกสลายและจับตัวกันตกตะกอนอยู่ที่ผิว
   ของเซลล์เม็ดเลือดแดง เรียกว่า "Heinz bodies" ทำให้สูญเสียความยืดหยุ่น
   ของเม็ดเลือดแดงและในขณะเดียวกันก็เกิด lipid peroxidation  ของผนังเซลล์
   เม็ดเลือดแดงด้วย   ซึ่งถ้ารุนแรงมากจะทำให้เกิดรูรั่วที่ผนังเซลล์ด้วย ทำให้เกิด
   การแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือด  นอกจากนี้เม็ดเลือดแดงที่ไม่แตก
   แต่เสื่อมสภาพเมื่อผ่านไปในตับหรือม้ามจะถูกทำลายโดย RE cell ได้โดยง่าย  ก่อให้เกิด
   การแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงนอกกระแสโลหิตร่วมด้วย
   รูปที่ 2  แสดงกลไกปกติของ  G-6-PD

Hb          =  Hemoglobin
GSSG    =  Oxidised glutathione
G-6-PD  =  Glucose-6-phosphate
GSH            =   Reduced glutathione
GSSG-RX   =   Glutathione reductase
6-PG           =   6-Phospho gluconate
HMPS      =  Hexose monophosphate shunt
NADP      =  nicotinamide adenine dinucleotide phosphate
NADPH   =  Reduced nicotinamide adenine dinucleotide phosphate

         ภายหลังการเกิดการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงเฉียบพลันร่างกายจะสร้าง
   เซลล์เม็ดเลือดแดงขึ้นมาใหม่ เซลล์เม็ดเลือดแดงที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะมีระดับเอนไซม์
   G-6-PD สูงกว่าเซลล์เม็ดเลือดแดงตัวแก่ถึง 5 เท่า ฉะนั้นผู้ป่วยจะมีระดับเอนไซม์
   G-6-PD สูงกว่าเดิมได้และทำให้การแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงหยุดลง
          G-6-PD deficiency มี variant ต่างๆ มากกว่า 440 ชนิด เช่น G-6-PD
   A  พบมากในคนอาฟริกันผิวดำ  G-6-PD B พบในคนทุกเชื้อชาติ  G-6-PD
   Mediteranean พบมากในคนขาว  ส่วนในคนไทยพบ G-6-PD variant ต่างๆ
   ได้มากกว่า 15 ชนิด ที่พบมากที่สุด คือ G-6-PD Mahidol  มีการจัดแบ่ง G-6-PD
   deficiency ตามระดับเอนไซม์ไว้เป็น 5 ระดับ คือ
          1. Severely deficiency with chronic anemia
          2. Severely deficiency with acute anemia
          3. Moderately to mildly deficiency with acute anemia
          4. Mildly deficiency to normal
          5. Increased G-6-PD activity
   ตารางที่ 1 ยาที่กระตุ้นให้เกิดการแตกทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ในภาวะขาด  G-6-PD

   สิ่งที่ทำให้เกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง ใน  G-6-PD deficiency  ได้แก่
   1. ยาต่างๆ  แสดงในตารางที่ 1
   2. การติดเชื้อ  เช่น  ไวรัสตับอักเสบ (viral hepatitis), bacterial pneumonia
   3. Diabetic acidosis

   การตรวจทางห้องปฎิบัติการทางการแพทย์
   1. ตรวจพบภาวะโลหิตจาง, พบ reticulocytosis  หลังการแตกทำลายเซลล์
       เม็ดเลือดแดง 5-15 วัน และอาจพบสูงถึงร้อยละ 8-12, และพบความผิดปกติอื่นๆ
       เหมือนที่พบในภาวะโลหิตจางที่เกิดจากแตกทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น
       hyperbilirubinemia, hemoglobinemia และ hemoglobinuria, ระดับ
       Haptoglobin ในเลือดต่ำลง, ระดับ LDH ในเลือดสูงขึ้น
   2. ในขณะที่มีการแตกทำลายเม็ดเลือดแดงจะพบ "Heinz body" เมื่อย้อมด้วย brilliant
       cresyl blue หรือ crystal violet เซลล์ที่มี "Heinz body" เมื่อผ่านไปที่ตับหรือม้าม
       จะถูกเอาออก ทำให้มองดูคล้ายเซลล์ที่ถูกกัดจึงเรียกว่า "Bite cell"
       เมื่อตรวจดูในเสมียร์เลือด และพบเซลล์เม็ดเลือดแดงที่มีฮีโมโกลบินรั่วออกนอกเซลล์
       มีชื่อเรียกว่า "Eryhtrocyte hemighost" บ้าง"Eccentrocyte" บ้าง หรือ
       "Ghost cell" บ้าง
   3. การตรวจหาการเกิด NADPH โดยวิธีต่างๆ ได้แก่
       3.1 การตรวจหาระดับ NADPH  เป็นวิธีที่มีความไวและความจำเพาะสูง
       เป็นการทำปฏิกิริยาระหว่าง Glucose-6-phosphate (G-6-P), NADP และเอนไซม์
       G-6-PD เพื่อให้ได้ NADPH ต้องใช้เครื่อง Spectro photometer และอุปกรณ์อื่นๆ
       3.2 Fluorescent spot test เป็นวิธีตรวจกรองที่มีความไวและความจำเพาะสูง
       โดยผสมหยดเลือดกับหยดสารผสมของ Glucose-6-phosphate (G-6-P), NADP
       และ Saponin บนกระดาษกรอง ในคนปกติที่มีเอนไซม์ G-6-PD  สารผสมดังกล่าว
       จะทำปฏิกิริยากับเอนไซม์ G-6-PD ได้ NADPH   ซึ่งเป็นสารเรืองแสงเมื่อส่องด้วยแสง
       อัลตราไวโอเลต
       3.3 Dye reduction test   เป็นวิธีตรวจกรองที่ค่าใช้จ่ายถูกและทำได้ง่าย
       โดยการผสมน้ำเลือด hemolysate ของผู้ป่วยกับ Glucose-6-phosphate (G-6-P),
       NADP และสี brilliant cresyl blue ถ้าผู้ป่วยมีเอนไซม์ G-6-PD สารดังกล่าว จะทำ
       ปฏิกิริยากับเอนไซม์ G-6-PD ได้ NADPH ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสี brilliant cresyl blue
       และทำให้สีน้ำเงินหายไปกลายเป็นสารไม่มีสี
       3.4 Ascorbate-cyanide test เป็นวิธีตรวจกรองที่มีความไวแต่ความจำเพาะต่ำ
       โดยการผสมเลือดของผู้ป่วยกับ Sodium ascorbate, Sodium cyanide และน้ำตาล
       Glucose จะได้ Hydrogen peroxide ถ้าผู้ป่วยขาดเอนไซม์ G-6-PD สาร peroxide
       ที่เกิดขึ้นจะไม่ถูกกำจัดและจะทำปฏิกิริยากับฮีโมโกลบินเป็น methemoglobin
       เกิดเป็นสารสีน้ำตาลขึ้น

   Paroxysmal Nocturnal Hemoglobinuria  (PNH)
        เป็นภาวะโลหิตจางที่เกิดจากการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงในกระแสโลหิต
   (intravascular hemolysis, IVS)  และทำให้เกิด hemoglobinuria   ในขณะนอนหลับ
   หรือในเวลากลางคืน  เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยกว่าครึ่งหนึ่งมีปัสสาวะสีเข้มขึ้นหรือดำ
   ในตอนเช้า และจางลงในระหว่างวัน จึงเรียกโรคนี้ว่า "Paroxysmal Nocturnal
   Hemoglobinuria, PNH)  ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงเอง
   ผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์ด้วยภาวะโลหิตจางเรื้องรัง และมีอาการกำเริบเป็นพักๆ
   จากการติดเชื้อ ไข้ ผลข้างเคียงจากยา การออกกำลังกาย เป็นต้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีตับ
   และหรือม้ามโต และหากจะมีก็มีเพียงเล็กน้อย ในคนไทยพบอุบัติการในเพศชาย
   มากกว่าเพศหญิงถึง 3 เท่า และมักพบในช่วงอายุ 10-30 ปี  ในขณะที่ทางตะวันตก
   พบอุบัติการในเพศชายและเพศหญิงเท่าๆ กัน  และพบในกลุ่มอายุกลางคน คือ
   ระหว่าง 30-50 ปี
        การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์   จะพบภาวะโลหิตจางซึ่งระดับ
   ความรุนแรงจะแปรตามระดับความรุนแรงของการเกิดการแตกทำลายเม็ดเลือดแดง
   พบ Reticulocyte count สูงกว่าปกติเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดจะต่ำกว่าปกติ
   เล็กน้อย   ผลการนับแยกชนิดเม็ดเลือดขาว (defferential white blood cell count)
   อยู่ในเกณฑ์ปกติ  ตรวจไขกระดูกจะพบเซลล์กลุ่มเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ
   (erythroid hyperplasia)  เนื่องจากการวินิจฉัย PNH ทำได้ค่อนข้างจะยาก
   เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการชัดเจน   และการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยทั่วไป
   มักพบเฉพาะลักษณะ hypoplastic anemia  ฉะนั้นจึงต้องพึ่งการตรวจจำเพาะที่
   จะช่วยในการวินิจฉัย ที่สำคัญคือ
   1. Sucrose hemolysis test  โดยการนำเม็ดเลือดแดงของผู้ป่วยมาใส่ลงใน isotonic
       sucrose solution  ในคนปกติ sucrose จะไม่ผ่านผนังเซลล์เม็ดเลือดแดง
       แต่ในผู้ป่วย PNH สารละลายดังกล่าวกระตุ้นให้  complement เกาะกับผนังเซลล์
       เม็ดเลือดแดง และทำให้ sucrose สามารถผ่านผนังเซลล์ได้ ทำให้เกิด  osmotic
       lysis เกิดขึ้น
   2. Ham's test หรือ acidified serum test  หลักการคือเซลล์เม็ดเลือดแดงของผู้ป่วย
       PNH จะถูกทำลายเมื่อใส่ลงในน้ำเลือด fresh normal serum  และจะไม่แตกทำลาย
       หากอุ่นน้ำเลือดนั้นให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นเพื่อทำลาย complement  นอกจากนี้
       จะตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ เช่นเดียวกับที่พบใน IVH

        การรักษาใช้สเตอรอยด์เพื่อลดภาวะวิกฤตจากการแตกทำลายเม็ดเลือดแดง
   เฉียบพลัน การให้ Androgen เพื่อกระตุ้นการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและอาจจำเป็น
   ต้องทำการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อทำลาย PNH clone ในไขกระดูกให้หมดไป
   นอกจากนี้มีการรักษาตามอาการ และการป้องกันภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น

   Autoimmune hemolytic anemia (AIHA)
        AIHA เป็นภาวะโลหิตจางที่เกิดจากร่างกายสร้างแอนติบอดีต่อเม็ดเลือดแดง
   ของตนเอง  ทำให้เกิดการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดง  ส่วนใหญ่เป็นการแตกทำลาย
   นอกกระแสโลหิต (extravascular hemolysis, EVH)

        แบ่งตามชนิดของแอนติบอดีได้เป็น 2 ชนิดคือ
   1. Warm AIHA  เป็นชนิดที่แอนติบอดีทำงานได้ดีที่อุณหภูมิ 37C
   2. Cold AIHA เป็นชนิดที่แอนติบอดีทำงานได้ดีที่อุณหภูมิต่ำกว่า 37C
       ส่วนมากจะประมาณ 4-22

       นอกจากนี้อาจแบ่งตามสาเหตุซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ
   1. Primary  หรือ Idiopathic AIHA  เป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ  พบประมาณร้อยละ
       30-50
   2. Secondary AIHA  เป็นชนิดที่มีสาเหตุจากโรคหรือภาวะต่างๆ เช่น  Systemic
       Lupus Erythrematosus (SLE), Chronic Lymphocytic Leukemia (CLL),
       Malignant Lymphoma, ได้รับยา Methyldopa เป็นต้น

        การตรวจทางห้องปฏิบัติการ   จะพบภาวะโลหิตจาง ตรวจเสมียร์เลือด
   พบเซลล์เม็ดเลือดแดงมีขนาดต่างๆ กัน (anisocytosis)   พบ spherocyte   พบ
   polychromasia   อาจพบ nucleated red cell  พบลักษณะเซลล์เม็ดเลือดแดง
   จับกลุ่มกัน (antoagglutination) เป็นหย่อมๆ  ส่วนเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด
   มักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ  ตรวจพบ Reticulocyte count สูงกว่าปกติมาก  ตรวจ direct
   Cooms' test ให้ผลบวก และในรายที่มีแอนติบอดีเหลือจากการจับที่ผิวเซลล์
   เม็ดเลือดแดง  การตรวจ indirect Cooms' test จะให้ผลบวกได้ด้วย ผู้ป่วย AIHA
   ควรจะมีผล direct Cooms' test บวกเสมอ   ในกลุ่มที่มีสาเหตุจาก Alloantibody
   จะพบ direct Cooms' test เป็นลบ และ indirect Cooms' test เป็นบวก   นอกจากนี้
   จะตรวจพบความผิดปกติอื่นๆ เช่นเดียวกับที่พบใน EVH   การตรวจวินิจฉัยเพื่อให้ได้
   การวินิจฉัยโรคเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะได้ทำการรักษาสาเหตุ หรือโรคต้นตอได้ถูกต้อง
        ผู้ป่วย AIHA มักจะมีอาการรุนแรงได้จากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย
   เป็นจำนวนมาก การรักษาเพื่อประคับประคองอาการอย่างเร่งด่วนเป็นสิ่งจำเป็น
   การรักษาทำโดยให้สเตอรอยด์เพื่อยับยั้งการสร้างและการทำงานของแอนติบอดี
   และอาจจะต้องให้ยากลุ่ม Immunosuppressive drug เพื่อกดการทำงานของระบบ
   ภูมิคุ้มกัน ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อสเตอรอยด์อาจจะต้องตัดม้าม   นอกจากนี้
   มีการรักษาอื่นๆ   ตามแต่จะจำเป็น เช่น การทำ plasma exchange, plasmapheresis
   เป็นต้น

   การแตกทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกแรกคลอด
  (Hemolytic disease of the newborn)
        การแตกทำลายเม็ดเลือดแดงในทารกแรกคลอด เกิดจากหมู่เลือดของแม่และลูก
   เข้ากันไม่ได้ (blood group incompatibility)  เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด
   อาการตัวเหลือง (jaundice) ในทารกแรกคลอด  ในประเทศไทยจะพบ ABO
   incompatibility ประมาณร้อยละ 0.5-1  ของทารกแรกคลอดทั้งหมด  มักจะเกิด
   ในมารดาที่มีหมู่เลือดกรุ๊ฟ "O" และทารกที่มีหมู่เลือดกรุ๊ฟ A หรือ B ในทารกที่มี
   หมู่เลือดกรุ๊ฟ A หรือ B  จะมีแอนติเจน A หรือ B อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง
   ในขณะที่มารดามีหมู่เลือดกรุ๊ฟ O  จะไม่มีทั้งแอนติเจน A และ/หรือ B
   บนผิวเม็ดเลือดแดงแต่จะมีแอนติบอดีต่อแอนติเจนทั้ง A และ B  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนิด
   IgM  ในขณะตั้งครรภ์เลือดของลูกจะผ่านรกเข้าไปในกระแสโลหิตของมารดา
   และกระตุ้นให้มารดาสร้างแอนติบอดี เป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันแบบทุติยภูมิ
   (secondary immune response) ทำให้ได้แอนติบอดีเป็นชนิด IgG จำนวนมาก
   ซึ่งเป็นชนิดที่มีโมเลกุลเล็ก และสามารถผ่าน รกเข้าสู่กระแสโลหิตของลูก และเข้าไป
   ทำลายเม็ดเลือดแดงของลูก  อาการตัวเหลืองในทารกแรกคลอดมักจะเกิดหลังคลอด
   ภายใน 24 ชั่วโมงแรก และมีการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงแบบนอกกระแสโลหิต
   (extravascular hemolysis, EVH)  เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสำคัญ 3 ประการคือ
   1. เกิดการคั่งของ uncoujugated bilirubin ซึ่งสามารถผ่านเข้าสู่สมองของทารก
       ทำให้เกิดอาการ  kernicterus ได้
   2. ตับ ม้ามโต
   3. ภาวะโลหิตจาง
        นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเลือดออกผิดปกติการติดเชื้อ และอื่นๆ ด้วย

       การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ที่สำคัญ ในรายที่เกิดภาวะโลหิตจาง
   ไม่มาก จะพบว่ามีการสร้างเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนเพิ่มขึ้น (reticulocytosis)
   การตรวจเสมียร์เลือดจะพบ spherocyte  ผลการตรวจ direct Cooms' test
   จะให้ผลบวกอย่างอ่อน (weakly positive)  พบ Free anti-A และหรือ -B
   ในเลือดทารก นอกจากนี้ในเลือดมารดาจะสามารถตรวจพบ IgG anti-A และหรือ -B
   สูงกว่าปกติ
        การรักษาที่สำคัญ คือการถ่ายเลือด (exchange transfusion) เพื่อ
   1. กำจัดเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ถูกจับด้วยแอนติบอดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำลาย
       เซลล์เม็ดเลือดแดง
   2. เพื่อลดระดับ  bilirubin  เพื่อป้องกันไม่ให้ทำอันตรายกับสมองของทารก
   3. เพื่อแก้ไขภาวะโลหิตจาง