โรค inherited metabolic disorders หรือ inborn errors
of metabolism (IBEM) ในปัจจุบันมีความหมายครอบคลุมโรคกลุ่มต่างๆ เป็นจำนวนมาก
ทั้งความผิดปกติของ enzymes, receptors, transport proteins, structural molecules,
และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ความหมายที่ใช้กันโดยทั่วไป และที่จะใช้ในบทความนี้คือ
กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของ ขบวนการย่อยสลาย (catabolism) หรือขบวนการสังเคราะห์
(anabolism) สารอาหาร ซึ่งเกิดจาก การทำงานของ enzymes ผิดปกติ การเปลี่ยนแปลงที่ระดับ
DNA ของโรคกลุ่มนี้ อาจเป็นการ กลายพันธุ์ของยีนที่สร้าง enzyme หรือยีนที่สร้างสารมาควบคุม
หรือส่งเสริมการทำงานของ enzyme เช่น cofactor ก็ได้ การทำงานที่ผิดปกติของ
enzyme จะทำให้เกิดการคั่งของสารตั้งต้น และการขาดของผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ
และเกิดอาการทางคลินิกขึ้น (รูปที่ 1)
รูปที่ 1 อาการของโรคในกลุ่ม
IBEM ที่เกิดจากการขาด enzyme มักเกิดจากการสะสมของสารตั้งต้น (substrate;
S) การขาดของผลิตภัณฑ์ (Product; P) หรือการสะสมของสารที่เกิดจากปฏิกิริยาข้างเคียง
(Metabolites; M) |
การเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์มักจะเน้น biochemical pathways
แต่ไม่กล่าวถึง ขบวนการและขั้นตอนในการวินิจฉัย inherited metabolic disorders
มากนัก นอกจากนั้น ตำราต่างๆ ยังมักกล่าวถึงโรคกลุ่มนี้ โดยแบ่งตามโรค ไม่ได้แบ่งตามลักษณะปัญหาทางคลินิก
เหตุผลดังกล่าวประกอบกับความซับซ้อนของ biochemical pathways, ความคลุมเครือของ
ขบวนการวินิจฉัย, อุบัติการของแต่ละโรคที่พบน้อย, ผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้มีน้อย
และความ ไม่พร้อมของห้องปฏิบัติการในประเทศไทย กุมารแพทย์จึงมักจะมองข้าม
inherited metabolic disorders ไปในการวินิจฉัยแยกโรค บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสนอแนวทางในการวินิจฉัย
และการรักษาเบื้องต้น โดยจะเน้นอาการ, อาการแสดง, และโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อย
และมีความสำคัญทางคลินิก
อาการและอาการแสดงของโรคทาง metabolic สามารถเลียนแบบโรคเด็กอื่นๆ
ได้เกือบทุกโรค โดยทำให้เกิดอาการในระบบเดียว หรือหลายระบบก็ได้ อาการที่พบบ่อยจะเป็นอาการทางระบบ
ประสาท, ทางเดินอาหาร และหัวใจ ผู้ป่วยในกลุ่ม IBEM จะเริ่มมีอาการครั้งแรกที่อายุใดก็ได้
แม้จะเป็นโรคเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นกับระดับ enzyme ที่เหลือ และปัจจัยส่งเสริม
ถ้าการกลายพันธ์ (mutation) ทำให้ไม่เหลือ enzyme ที่ปกติเลย ผู้ป่วยอาจเกิดอาการเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง
หลังคลอด แต่ถ้าการกลายพันธ์ทำให้ระดับ enzyme ลดลง แต่ยังเหลืออยู่บ้าง ผู้ป่วยอาจไม่มี
อาการเลย จนกว่าจะมีปัจจัยมาส่งเสริม ประวัติที่ควรถามในผู้ป่วยทุกรายคือ
ประวัติก่อนคลอด, ประวัติช่วงคลอด, ประวัติหลังคลอด และประวัติครอบครัว โดยการซักพงศาวลีควรซักให้ได้
อย่างน้อย 3 ช่วงอายุคน ทั้งนี้รวมถึงลูกของ ลุง ป้า น้า อา ของผู้ป่วยด้วย |