Dirofilariasis

โรค dirofilariasis เป็นโรคในสัตว์ รายงานส่วนน้อยพบในคน ส่วนมากเกิดจากพยาธิ Dirofilaria immitis ซึ่งเป็นพยาธิหัวใจสุนัข (dog heartworm) พยาธิ Dirofilaria tenuis เป็นพยาธิของแรคคูน และพยาธิ Dirofilaria repens เป็นพยาธิในสุนัขและแมว โรคนี้ติดต่อสู่คนโดยยุงกัดคนและปล่อยตัวอ่อน microfilaria เข้าทางผิวหนัง

สำหรับชนิด D.immitis ทำให้เกิด ก้อนในปอด (pulmonary dirofilariasis) เป็นส่วนใหญ่ รายงานส่วนมากพบในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย สำหรับชนิด D.tenuis และ D.repens ทำให้เกิดโรคที่ผิวหนัง (subcutaneous dirofilariasis) พบในยุโรป โดยเฉพาะอิตาลี และรัสเซีย อัฟริกา เอเซีย(โดยเฉพาะศรีลังกา) และตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศไทย ทั้ง D.immitis และ D.repens มีระบาดในสุนัขและแมวทั่วไป สำหรับ D.repens นั้นพบระบาดเฉพาะทางภาคใต้ของประเทศและบางส่วนของมาเลเชีย ประเทศไทยมีรายงานการติดเชื้อ Dirofilaria ในคน 2 ราย เมื่อปีพ.ศ.2498 (คศ.1955) พบในลูกตาของผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 45 ปีจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และเมื่อปีพ.ศ.2526 (คศ.1983) พบในถุงน้ำของหนังตาบนซ้ายของผู้ป่วยหญิง อายุ 51 ปีจากจังหวัด พังงา ทั้งสองรายมาจากจังหวัดทางภาคใต้ของไทย

วงจรชีวิต สำหรับชนิด D.immitis ตัวแก่อาศัยอยู่ในหัวใจห้องขวาบนของสัตว์จำพวกสุนัข หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ เช่น แมว สุนัขจิ้งจอก หมาป่า และสิงห์โตทะเล เป็นต้น ตัวแก่เหล่านี้มักเกี่ยวพันกันเป็นก้อนและปล่อยตัวอ่อน microfilaria ไปตามกระแสเลือด การติดต่อระหว่างสัตว์และคน มียุงเป็นพาหะนำเชื้อ คนเป็นที่อยู่โดยบังเอิญในวงจรชีวิตของมัน ตัวแก่และตัวอ่อนปกติไม่สามารถมีชีวิตในกระแสเลือดของคนได้ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะถูกพัดพามาที่หัวใจด้านขวาบนชั่วระยะหนึ่ง อาจเจริญเป็นตัวแก่และตายไป หรือถูกพัดพามาติดที่ปอด

สำหรับชนิด D.repens และ D.tenuis ปกติอาศัยอยู่ใต้ผิวหนังของสัตว์ที่เป็น definitive host

อาการทางคลีนิค

Pulmonary dirofilariasis ส่วนมากเกิดกับผู้ใหญ่ โดยมากไม่มีอาการ แต่ตรวจพบโดยภาพรังสีเห็นเป็นแผลกลมในปอด มีขนาด 1-3 เซนติเมตรโดยประมาณ ถ้ามีอาการส่วนใหญ่มีอาการปวดแน่นหน้าอก ไอ หรือไอปนเลือด บางคนมีไข้ หนาวสั่น และอ่อนเพลีย บางรายในเลือดอาจพบ eosinophils สูง

Subcutneous dirofilariasis ส่วนมากตรวจพบพยาธิที่เยื่อบุตา (conjunctiva) หนังตา ถุงหุ้มอัณฑะ เต้านม แขนและขา เป็นต้น ผู้ป่วยมาด้วยอาการเป็นตุ่มบวม แดง และปวด บางรายมีอาการคัน หรือมีบวมเคลื่อนที่ เมื่อผ่าตุ่มดังกล่าวจะพบตัวพยาธิในตุ่มเหล่านี้

พยาธิสภาพ โดยมากพบเป็นก้อนอยู่บริเวณใกล้ผิวของปอด ขอบเขตของพยาธิสภาพชัดเจน ประกอบด้วยเศษเนื้อตายเป็นบริเวณกว้างอยู่ตรงกลางก้อน พร้อมกับพบชิ้นส่วนของพยาธิที่ตายอยู่ภายใน บริเวณรอบนอกก้อนพบการอักเสบแบบ granulomatous inflammation ซึ่งประกอบด้วย epitheloid cell, lymphocytes, และplasma cell ส่วน giant cell พบประปราย พยาธิที่ตายภายในก้อน มักพบตัวเดียวอยู่ภายในหลอดเลือดซึ่งถูกอุดตันด้วยก้อนเลือดและเยื่อ fibroblast บางครั้งอาจพบสารแคลเซี่ยมพอกที่เศษชิ้นส่วนพยาธิที่ตายนี้

สำหรับที่ผิวหนังระยะแรก อาจพบเป็นตุ่มหนอง ระยะหลังพบอักเสบแบบ granulomatous inflammation พร้อมกับพบตัวพยาธิขดตัวตายอยู่ในตุ่มเหล่านี้

การวินิจฉัย: โดยตรวจพบตัวพยาธิในอวัยวะที่มันไปอาศัยอยู่