การวางแผนการรักษา
        การวางแผนการรักษาเป็นสิ่งจำเป็นในผู้ป่วยแต่ละราย เนื่องมาจากมะเร็งมีความแตกต่างกัน ในทางชีววิทยา และการดำเนินโรค แม้ว่าหลักสำคัญในการรักษาคือ การให้ยาเคมีบำบัดก็ตาม ในผู้ป่วยบางราย จำเป็นต้องได้รับการบำบัดเฉพาะที่ร่วมด้วย เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี ในกรณีที่มะเร็งกระจายไปยังสมอง กดไขสันหลัง ไปยังกระดูก แล้วมีความเสี่ยงต่อการหักของกระดูก มีน้ำในช่องปอด หรือช่องหัวใจ จำนวนมากพอที่กดการทำงานของปอด และหัวใจ ซึ่งในกรณีต่างๆ เหล่านี้ การให้การรักษาหลายๆ วิธีร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย
         การรักษาด้วยวิธีสามัญที่กระทำอยู่ในปัจจุบัน ยังให้ผลการรักษาจำกัดอยู่ในช่วง ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น  ผู้ป่วยและแพทย์ต้องตัดสินใจวางแผนการรักษาร่วมกัน โดยที่แพทย์ ต้องตระหนักถึงผลการรักษาในปัจจุบัน ต่อการรักษาในอนาคต เช่น การหลีกเลี่ยงการทำลาย ไขกระดูก จากรังสีรักษาให้มากที่สุด ในผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด เป็นต้น  นอกจากนี้ ในกรณีที่การรักษาที่ให้ อยู่ในขั้นการวิจัยทางคลินิก ต้องได้รับความยินยอม จากผู้ป่วยก่อน  และต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยอาจได้ประโยชน์จากการศึกษาด้วย
        การตัดสินใจว่าจะให้การรักษา หรือหยุดการรักษา ก็เป็นข้อพิจารณาข้อหนี่ง ผู้ป่วยที่ไม่มี หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย และมะเร็งมีการดำเนินโรคช้า ก็อาจมีเหตุผลเพียงพอให้ตัดสินใจ หยุดการรักษาได้ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยส่วนใหญ่ มักมีอาการและการดำเนินโรคเร็ว ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจหยุดการรักษาได้
        การเลือกวิธีให้การรักษาและการพยากรณ์โรค จำเป็นต้องทราบตำแหน่งและขอบเขต การแพร่กระจายของก้อนมะเร็ง ดังนั้นนอกเหนือจากการถามประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจพื้นฐานทางห้องปฏิบัติการ อันได้แก่ CBC  alkaline phosphatase   SGOT   ภาพรังสีทรวงอก และการตรวจกระดูกด้วยสารรังสี   การตรวจด้วยเอกซเรย์ คอมพิวเตอร์  หรือเอกซเรย์สนามแม่เหล็กของทรวงอก ช่องท้อง หรืออุ้งเชิงกราน อาจมีประโยชน์ในผู้ป่วยบางราย ที่สงสัยว่า อาจมีมะเร็งซ่อนเร้นอยู่ในตำแหน่งเหล่านี้   การตรวจระดับ CEA และ CA 15-3 มีประโยชน์มาก ในการติดตามการลุกลามของโรค  และการตอบสนองต่อการรักษา (4)
นอกจากนี้ ระยะเวลาตั้งแต่ปรากฏโรคมะเร็ง จนถึงเวลาที่ โรคแพร่กระจาย ก็มีประโยชน์ต่อแพทย์ ในการประเมินการดำเนินโรค


สารบัญหลักหน้าแรกการเลือกวิธีรักษา