การรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด
(Hormonal Therapy)
ข้อบ่งชี้ในการให้การรักษาด้วยฮอร์โมนคือ (5-7)
        1. ผู้ป่วยที่ตรวจพบตัวรับต่อเอสโตรเจนหรือโปรเจนโตโรนในก้อนมะเร็ง ร่วมกับ
        2. ไม่พบการแพร่กระจายของมะเร็งในอวัยวะภายใน (nonvisceral organs)
        การรักษาด้วยฮอร์โมน มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัดมาก ประมาณ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย ที่ให้ผลบวกต่อการย้อมตัวรับฮอร์โมน จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน (8)  ระยะเวลา ที่ให้ผลตอบสนองต่อการรักษาช้า มักใช้เวลาตั้งแต่ 16 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะเริ่มเห็นผลการตอบสนอง ต่อการรักษา (9)  ผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งให้ผลลบต่อการย้อมตัวรับฮอร์โมน มีโอกาสน้อยมากที่จะ ตอบสนองต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม อาจพบผลลบลวง ต่อการย้อมได้ โดยเฉพาะถ้าย้อมด้วยวิธี steroid-binding assay  ซึ่งเป็นเหตุผลในการให้การรักษาด้วยฮอร์โมน ในผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งให้ผลลบต่อการย้อม
การรักษาด้วยฮอร์โมนแบ่งเป็น 2 วิธีคือ
        1. การขจัดการทำงานของรังไข่ด้วยการผ่าตัดรังไข่ออกไป หรือการฉายรังสีที่รังไข่ (ablative)
        2. การใช้ยายับยั้งการทำงานของรังไข่ (additive)
        การเลือกวิธีใดนั้น ขึ้นกับสภาวะประจำเดือนของผู้ป่วย โดยที่อัตราการตอบสนองทั้งสองวิธี ไม่มีความแตกต่างกัน (10,11)  การใช้ยาฮอร์โมนชนิดเดียวหรือหลายชนิดร่วมกัน ให้ผลการรักษา ไม่แตกต่างกัน ค่ามัธยฐานของระยะเวลาการตอบสนองเท่ากับ 1 - 2  ปี  โดยขึ้นกับสองปัจจัยคือ ตำแหน่งอวัยวะที่มะเร็งแพร่กระจาย (รอยโรคที่เนื้อเยื่ออ่อนตอบสนองต่อยาดีที่สุด รองลงมาคือ รอยโรคที่กระดูก) และระดับผลบวกของตัวรับฮอร์โมน (ยิ่งผลบวกมาก ยิ่งตอบสนองดีต่อ ฮอร์โมนบำบัด) (5-7)
ตารางที่ 1  แสดงยาฮอร์โมนที่ใช้ในการรักษามะเร็งเต้านม
ผู้ป่วยวัยก่อนหมดประจำเดือน
 Goserelin หรือ luprolide*
ผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน
Anastrozole 
Aminoglutethimide 
Diethylstibestrol
ผู้ป่วยทุกวัย
Tamoxifen (Tam) 
Megestrol acetate 
Prednisolone 
Fluoxymesterone (H)
     *   เทียบเท่าการผ่าตัดรังไข่ (surgical oophorectomy)
        ในผู้ป่วยวัยก่อนหมดประจำเดือนอยู่ การรักษาด้วยฮอร์โมนวิธีแรกคือ การผ่าตัดรังไข่ออกไป  การรักษาด้วยการฉายรังสีที่รังไข่เป็นวิธีที่ใช้น้อยมาก  ปัจจุบันเริ่มมีการใช้ยากดการทำงานของรังไข่ เช่น goserelin มากขึ้น  ยา tamoxifen ก็มีประสิทธิภาพในผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ถ้าขาดการทำงานของรังไข่ร่วมด้วย
        ส่วนในผู้ป่วยที่หมดประจำเดือนมักให้ยา tamoxifen เป็นการรักษาแรกเนื่องจากมีผลข้างเคียง น้อยมาก megesterol
        acetate และ aromatase inhibitors ก็มีความสำคัญในการรักษาผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน เช่นกัน aromatase inhibitor เช่น aminoglutethimide เป็นยาที่ยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนแอนโดรเจน ที่สร้างจากต่อมหมวกไตไปเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้ผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือน ยิ่งมีระดับ เอสโตรเจนลดลง (10,12)   anastrozole ซึ่งเป็นยาใหม่ในกลุ่มนี้ มีผลข้างเคียงน้อยกว่า aminoglutethimide และยังพบว่าผู้ป่วยวัยหมดประจำเดือนที่เคยได้รับ tamoxifen เมื่อให้ anastrozole พบว่ามีประสิทธิภาพการรักษาเท่าเทียมกับการใช้ megestrol acetate แต่ผลข้างเคียง น้อยกว่า โดยเฉพาะน้ำหนักเพิ่ม
        ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยตอบสนองต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน แต่ต่อมาก้อนมะเร็งโตขึ้น  การเปลี่ยนไปใช้ยาฮอร์โมนชนิดที่สอง อาจพบว่ามีการตอบสนองได้ หรือถ้าการรักษาล้มเหลวอีก การใช้ยาฮอร์โมนชนิดที่สาม ก็พบการตอบสนองได้ โดยมีอัตราการตอบสนองลดลงประมาณร้อยละ 50 ในยาแต่ละชนิดที่ได้รับ และระยะเวลาการตอบสนองลดลงด้วย สุดท้ายมะเร็งเต้านมเกือบทั้งหมด จะดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมน มีผู้ป่วยบางรายที่มะเร็งโตขึ้นในขณะที่ยังได้รับยา tamoxifen อยู่ แต่เมื่อหยุดยาแล้วนานเกินกว่า 6 สัปดาห์  พบว่าก้อนมะเร็งสามารถลดขนาดลงได้ (13)
        การบำบัดด้วยฮอร์โมนทั้งหมด อาจทำให้เกิดการปวดกระดูก หรือก้อนมะเร็งโตรวดเร็วได้ ภายในเดือนแรกของการให้ยา เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า  "flare phenomenon" ซึ่งพบได้ในผู้ป่วย ที่ได้รับยา diethylstilbestrol และ tamoxifen  แม้ว่าก้อนมะเร็งจะโตเร็วขึ้นในช่วงแรก แต่ก็เป็น ช่วงเวลาสั้นๆ และถือว่าเป็นปัจจัยที่ดี เพราะจะตามด้วยการลดขนาดของก้อนมะเร็ง และเป็นข้อสำคัญทางคลินิกประการหนึ่ง ในการแยกปรากฏการณ์นี้ กับการที่โรคมะเร็งไม่ตอบสนอง ต่อการรักษา


สารบัญหลักหน้าแรกเคมีบำบัด